สังคม
หลายจังหวัดภาคเหนือวิกฤต น้ำทะลักบ้านเรือน-พื้นที่เกษตรเสียหายหนัก รบ.ตั้งวอร์รูมจับตาสถานการณ์
โดย panwilai_c
22 ส.ค. 2567
61 views
สถานการณ์น้ำท่วม ในภาคเหนือ หลายจังหวัดยังวิกฤตหนัก บ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายหนัก รวมทั้งถนนที่ใช้สัญจรหลายสาย ถูกน้ำท่วมสูง จนเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ขณะที่หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างเตรียมรับมือน้ำทว่มอย่างเต็มที่ เตรียมตั้งวอร์รูมทั้งสุโขทัย และพิษณุโลก
หลังจากมีฝนตกติดต่อกันหลายสัปดาห์และน้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลผ่าน อ.เทิง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้เพิ่มระดับสูงขึ้น เข้าท่วมเขต ต.เวียง อ.เทิง น้ำได้ทะลักเข้าสู่ตลาด บ้านเรือน ประกอบกับลำน้ำหงาว ได้ไหลลงสู่แม่น้ำอิง ทำให้แม่น้ำอิง เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนของ อ.เทิง จนถึงขณะนี้ ที่จังหวัดเชียงรายมีผู้เสียแล้วรวม 3 ราย
นอกจากนี้ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ได้เกิดดินสไลด์ บริเวณด้านหลังร้านจำหน่ายของฝากริมถนนเรียบแม่น้ำโขง ทางเจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันนำขนย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันอันตราย
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงราย รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 16 – 22 ส.ค. มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 10 อำเภอ 30 ตำบล 221 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 5,579 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 12,828 ไร่ บ่อปลาและบ่อกุ้ง 68 บ่อ
ส่วนที่จังหวัดน่าน ระดับน้ำยังวิกฤต เนื่องจากน้ำแม่น้ำน่าน ล้นตลิ่งเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 200 หลัง ที่บ้านดอนไชย หมู่ 7 อำเภอเวียงสา ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพราะพื้นที่ของบ้านดอนไชย เป็นพื้นที่ต่ำ และอยู่ติดแม่น้ำน่าน โดยมวลน้ำทั้งหมดที่ไหลผ่านอำเภอเมืองน่าน จะไหลต่อไปที่อำเภอเวียงสา ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อไป
ที่จังหวัดพะเยา น้ำสะสมจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ไหลเข้าสู่ลำน้ำแม่ต๋ำ และ เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือน และถนนในเขตชุมชนท่าวังควาย-ภูมินทร์-ป่าลาน-อินทร์ฐาน-เมืองชุม ตำบลแม่ต๋ำ และชุมชนติดกว๊านพะเยา อำเภอเมือง ทำให้บ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือนได้รับผลกระทบ
ส่วนที่สุโขทัย นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณสนามเด็กเล่นเฉลิมพระเกียรติ เชิงสะพานพระร่วง เพื่อติดตามระดับน้ำและจุดเสี่ยง อาจถูกน้ำท่วม ในเขตเทศบาล โดยเฉพาะบริเวณสะพานพระร่วง ที่เป็นจุดเปราะบาง หากมีปริมาณน้ำไหลผ่านในปริมาณมาก อาจมีผลกระทบกับคอสะพาน และหากเกิดสถานการณ์น้ำไหลผ่านสะพานอาจจำเป็นต้องปิดเส้นทางสัญจร
ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่กำลังหลากท่วมในหลายจังหวัดที่อยู่ตอนเหนือของสุโขทัย กำลังไหลมุ่งหน้าสู่จังหวัดสุโขทัยโดยระดับน้ำที่ จุดวัดน้ำ Y 14 A (วาย 14 เอ) อำเภอศรีสัชนาลัย ระดับน้ำอยู่ที่ 4 เมตร 84 เซนติเมตร ยังถือว่าต่ำกว่าระดับตลิ่ง ซึ่งอยู่ที่ 11 เมตร 30 เซนติเมตร ปริมาณน้ำที่ไหลอยู่ที่ 622 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
และที่จุดวัดน้ำ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ซึ่งเป็นจุดบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำยม ให้ผันออกไปยังสาขาแม่น้ำยมทั้งฝั่งซ้ายและขวา รวมถึงแม่น้ำยมสายหลักระดับน้ำอยู่ที่9 เมตร 27 เซนติเมตร ถือว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 588 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที
คาดการณ์ว่า ในอีก 2 วันข้างหน้า หรือวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำยมจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในเขตเศรษฐกิจเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี อาจมีระดับน้ำไหลผ่านสูงถึง 500 ลบ.ม.ต่อวินาที
ขณะที่นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทานระบุว่าพื้นที่ในความรับผิดชอบ 4 จังหวัดคือมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 60 จุด ในจังหวัดอุตรดิตถ์ 2จุด /พิษณุโลก 7 จุด /พิจิตร 48 จุด และนครสวรรค์ 3 จุด ขณะนี้สั่งให้โครงการส่งน้ำบำรุงรักษาและโครงการชลประทานจังหวัดที่อยู่ในความดูแลจัดทำแผนเผชิญเหตุ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือนำไปติดตั้งในจุดเฝ้าระวังและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งทันทีได้ภายใน 3 ชั่วโมง
ทางด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมอุทกภัย ที่กรมชลประทาน บอกว่า ที่เรียกประชุมวันนี้ เพราะต้องการที่จะรับรู้ข้อมูลร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน ช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมามีปริมาณค่อนข้างมาก และมีร่องอากาศทำให้มีพายุเข้ามาได้อีกหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมกับตนเมื่อคืนนี้ และทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงประสานกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ และผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำสถานการณ์ทั้งหมดมาสรุปให้ตรงกัน ซึ่งมีทั้งข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา อยากจะเห็นภาพรวมร่วมกัน จะได้รู้ว่าสถานการณ์จริงหนักหรือไม่หนัก จะชั่วคราวหรือถาวร จะได้แก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง อยากให้สรุปสถานการณ์ให้ตรงที่สุดเพื่อแก้ไข โดยนายภูมิธรรม สั่งตั้งวอร์รูมที่กรมชลประทาน เพื่อมอนิเตอร์น้ำภาพรวมทั้งหมด
นายภูมิธรรม ย้ำว่า ไม่มีอะไรที่เหนือบ่ากว่าแรง เราเอาอยู่ ในขณะนี้ยังไม่มีพายุเข้า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง ภาคเหนือวิกฤต ,น้ำท่วมภาคเหนือ ,น้ำท่วมหนัก ,น้ำท่วมภาคเหนือวิกฤต