สังคม
แนวทางคำวินิจฉัยศาล รธน. คดีนายกฯ 'นักกฎหมาย' คาดมีแนวโน้มสูง ไม่มีความผิด
โดย parichat_p
13 ส.ค. 2567
45 views
สำหรับแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิด ก็จะดำรงตำแหน่งต่อไป แต่หากมีความผิดต้องพ้นจากความป็นรัฐมนตรี จะส่งผลการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ทำให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วย และต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ โดยนักกฏหมายและนักรัฐศาสตร์ ต่างคาดการณ์ตรงกันว่ามีแนวโน้มสูงที่นายกรัฐมนตรี จะไม่มีความผิด แต่หากมีความผิด ก็จะส่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ
การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ 40 สว.เข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ซึ่งศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น.วันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งแนวทางคำวินิจฉัยในมุมมอง รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนต้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนั้น ไม่สมควรที่ต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เหมือนกรณีการร้องยุบพรรคก้าวไกล เพราะถ้าพิจารณาตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง ต้องพิจารณาว่านายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) ซึ่งต้องมีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างเปิดเผย ซึ่งควรเป็นการพิจารณาในศาลยุติธรรม ที่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ตัวเองมากกว่า จึงเชื่อว่า แนวทางคำวินิจฉัย ศาลสามารถยกคำร้อง หรือนายกรัฐมนตรีไม่มีความผิด เพราะการกระทำยังไม่เป็นที่ยุติ
รศ.ดร.มนุินทร์ ยังเห็นว่า ตามหลักการกฏหมายที่จะนำเรื่องความผิดการทุจริตหรือจริยธรรมอย่างร้ายแรง มากล่าวหาให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ปกติ จึงต้องพิสูจน์ที่เจตนาด้วย เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งยังไม่มีศาลไหนพิสูจน์ว่า นายพิชิต ชื่นบาน ไม่มีคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวิตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่านายกรัฐมนตรีมีโอกาสรอดสูง เพราะในทางกฏหมายเห็นว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วก่อนเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ จะกลายเป็นความผิดจนต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นบทลงโทษที่สูงเกินไป
ทั้ง รศ.ดร.มุนิทร์ และ ดร.สิติธร เห็นตรงกันด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรี จะถูกวินิจฉัยว่ามีความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามจนต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีอย่างไร ส่วนผลทางการเมืองในคดีนายกรัฐมนตรี ย่อมส่งผลการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งหากมีความผิดนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถรักษาการณ์ได้ และหากจะกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐมนตรีว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามด้วยหรือไม่
ส่วนกรณีที่หากนายกรัฐมนตรีไม่มีความผิด ก็ต้องจับตาการปรับคณะรัฐมนตรี ที่ยังมีตำแหน่งว่างอีก 2 ตำแหน่ง และการจัดทัพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้แข็งแกร่งขึ้น หลังการยุบพรรคก้าวไกล ไม่ได้ส่งผลให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลเองต้องเร่งสร้างผลงานสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้วย
แท็กที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี ,เศรษฐาทวีสิน ,ศาลรัฐธรรมนูญ ,คำวินิจฉัย