ข่าวโซเชียล
ดรามาไม่พัก! หนังสือเรียน ‘ภาษาพาที’ ขอน้ำปลากินกับข้าวมันไก่ สพฐ.แจงเป็นเรื่องสมมติ สอนเป็นข้อคิด
โดย thichaphat_d
25 เม.ย. 2566
554 views
ดรามาต่อไม่หยุด แบบเรียนหนังสือ "ภาษาพาที" มีประเด็นอีกแล้ว ถูกวิจารณ์หนัก ใบพลู กินข้าวมันไก่ แต่ขอน้ำปลาจากร้านข้าวแกงมากินแก้เผ็ด ชาวเน็ตสุดงง ทำไมไม่ขอน้ำซุป ซ้ำยังถามหาน้ำใจคนไทย หลังถูกแม่ค้าต่อว่า ด้าน สพฐ. แจงดรามาเป็นเนื้อหาสมมุติขึ้น ไม่หวั่นเด็กสับสนเรื่องจริงกับสมมุติ เหตุสอนเป็นข้อคิด แล้วต้องรู้จักนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง - เตรียมหารือ คกก. เนื้อหาต้องปรับปรุงประเด็นไม่ทันสมัย-ไม่สอดคล้องภาวะปัจจุบันหรือไม่
จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพบทเรียนที่ระบุว่า เป็นหนังสือที่ชื่อว่า “ภาษาพาที” ชั้น ป.5 บทที่ 9 โดยในเนื้อหาพูดถึงการกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา คลุกไข่ แล้วเด็กก็มีความสุข ทำให้โลกออนไลน์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับตั้งคำถามถึงเนื้อหาที่สอนให้เด็กจำนนต่อโชคชะตา และมองว่าเป็นอาหารที่ไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการ
ล่าสุดวานนี้ (24 เม.ย.66) กระแสวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเรียนภาษาพาทีกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เนื้อหาหน้าหนึ่งในหนังสือเรียนภาษาพาที ป.5 ซึ่งเล่าถึงสถานการณ์ของ “ใบพลู” ที่ไปทานอาหารในที่แห่งหนึ่ง เธอทานข้าวมันไก่แต่น้ำจิ้มเผ็ด จึงตั้งใจไปขอน้ำปลาของร้านอื่น
ปรากฏว่าแม่ค้าพูดกับเธอว่า “อะไรกัน ไม่ได้ซื้อข้าวแกงร้านนี้สักหน่อย จะมาขอน้ำปลา” คนขายต่อว่าก่อนจะอนุญาต “เอ้า! อยากได้ก็ตักไป”
ในหนังสือบรรยายไว้ว่า “ใบพลูคอหด เดินถือจานข้าวมันไก่กลับโดยไม่ได้เติมน้ำปลา ไม่เป็นไร เขาไม่เต็มใจให้ก็อย่าไปเอาของเขาดีกว่า น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ ทำอย่างไรขนบธรรมเรียนประเพณีดีๆ ของไทยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจะอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนและในทุกที่”
เมื่อโพสต์นี้ถูกแชร์ออกไป ปรากฏว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์กระหน่ำ รวมทั้งมีคนสงสัยว่า ทำไมกินข้าวมันไก่กับน้ำปลา ถ้าน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวเผ็ดก็ขอหวาานได้ หรือว่าติดเค็ม ระวังจะเป็นโรคไตแต่เด็ก อีกความเห็นบอก สงสารเด็กไทย ฝึกวินัยและฝึกจิตสำนึกดีกว่า ฝึกน้ำใจในการช่วยเหลือคนอื่นก็พอ อย่าฝึกน้ำใจเพื่อเอาเปรียบ
เช่นเดียวกันกับ นายอานนท์ นำภา ทนายความ ก็โพสต์ภาพเรื่องราวนี้ในหนังสือเรียนภาษาพาที ป.5 ผ่านเฟซบุ๊ก ให้ความเห็นต่อเรื่องราวดังกล่าวว่า กินข้าวมันไก่กับน้ำปลา คนเขียนแบบเรียนนี่โตมายังไง
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มาคอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าว ระบุว่า (หน้าที่แล้ว) ใบพลูสั่งข้าวมันไก่ แล้วน้ำจิ้มเผ็ดไป เลยไปขอน้ำปลามาใส่แทน... แต่ๆ ทำไมหนูไม่ไปที่ร้านข้าวมันไก่ ไปขอน้ำปลา หรือน้ำจิ้มแบบไม่ใส่พริกแทนล่ะเนี่่ย (จริงๆ ตอนกิน ก็ตักแค่น้ำจิ้มไม่เอาพริกมาด้วย ก็ได้นี่น่า) ... ไปขอร้านข้าวแกงคนขายก็งงสิ
พร้อมกับลงภาพหน้าหนังสือเล่มเดียวกันในหน้าก่อนเรื่องราวต้นเรื่อง วงกลมเน้นที่วรรคสุดท้าย ที่มีเนื้อหาว่า ก่อนกลับบ้านน้าแป๊ดพาหลานขึ้นไปศูนย์อาหาร น้าแป๊ดกินบะหมี่แห้ง แต่ใบพลูกินข้าวมันไก่ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ค่อนข้างเผ็ด ใบพลูจึงไปขอน้ำปลาจากร้านข้าวแกง
ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ วิวาทะ โพสต์ภาพหนังสือเรียนภาษาพาที ป.5 เรื่องราวของใบพลูขอเติมน้ำปลาเช่นเดียวกัน พร้อมระบุว่า “เรียกสิ่งนี้ว่าน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณี ถึงว่าคนเลยอยากจะมารื้อให้เข้าที่เข้าทาง ว่าแต่คนเขียนเป็นอะไรมากกับน้ำปลาไหม นี่ก็จะเอามากินกับข้าวมันไก่” - ภาพและข้อความจากหนังสือเรียน #ภาษาพาที ป.5
เพจ Drama-addict แสดงความเห็นว่า
1. ถ้าน้ำจิ้มเต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ เผ็ดไป ขอซีอิ๊วหวานได้ ร้านข้าวมันไก่มีอยู่แล้ว
2. ปรกติไม่ค่อยเห็นคนกินน้ำปลากับข้าวมันไก่นะครับ กลิ่นคาวน้ำปลามันทำข้าวมันไก่เสียรสหมดมันไม่เข้ากัน ต้องซีอิ๊วหวาน อร่อยมาก เด็กที่กินเผ็ดไม่ได้ก็กินได้
3.น้ำปลา ของร้านอาหารเขาก็มีต้นทุนเอาไว้บริการลูกค้า ถ้าไม่ใช่ลูกค้าแล้วไปขอ ถ้าเขาให้ก็ดี ถ้าไม่ให้ ก็เป็นสิทธิของเขา เรื่องน้ำใจมันต้องมอบให้เองโดยสมัครใจไม่ใช่เรียกร้องให้เขามีน้ำใจอ่ะนะ
ขณะที่เฟซบุ๊ก ‘ปันกี้ เกิดมาซุย’ โพสต์บทเรียนจากหนังสือ ภาษาพาที ชั้น ป.5 ดังกล่าว ระบุ นอกจากจะอยากอ่านหนังสือเรียนเล่มนี้ คืออยากเห็นหน้าคนเขียน กับคนที่อนุมัติให้ผ่านมาเป็นแบบเรียนมาก ๆ
ทั้งนี้ ยังมีอีกประเด็นที่ดรามากันอีกสำหรับเนื้อหาในหนังสือ “ภาษาพาที” ของระดับชั้น ป.5 “บทที่ 2 คนละไม้ คนละมือ” โดยในหนังสือสอนว่า
“ผมมีเงินติดกระเป๋ามาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนัก แต่ผมยินดีบริจาคช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมโลก ผมหยอดเงินใส่ทุกกล่องจนเงินหมด การช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน นั่นก็คือการมีจิตสาธารณะนั่นเอง ผู้คนในชาติก็อยู่อย่างมีความสุข เป็นการกระทำที่มาจากจิตใจที่งดงามของตนเอง โดยปราศจากการบังคับ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”
โดยมีการวิจารณ์ว่าตำราเรียนมีการสอนเด็กไปในทางที่ผิด ว่า “ตำราสอนให้เด็กคิดผิด คนที่บริจาคคือคนมีน้ำใจ คนที่ไม่บริจาคคือคนไม่มีน้ำใจอ่อ” “เรื่องการบริจาค มีเงินอยู่น้อยแต่ต้องบริจาคหมดกระเป๋า เป็นการสอนให้เด็กมองในทางที่ผิดหรือไม่ การสอนลักษณะนี้เป็นการชี้ทางให้เด็กเข้าใจผิดว่าคนที่บริจาคเงินทุกคนคือผู้มีน้ำใจ ถ้างั้นคนไม่บริจาคคือคนไร้น้ำใจเหรอ การแสดงน้ำใจต่อกันมีหลายวิธี ไม่ใช่แค่บริจาคเงินหรือสิ่งของหรือเปล่า”
---------------------------------
สพฐ. แจงดรามาหนังสือเรียนภาษา พาที ป.5 เป็นเนื้อหาสมมุติขึ้น
ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ว่า สพฐ.มีความเข้าใจในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีความคิดเห็น และหลากหลายทางความคิด
โดยนายอัมพร กล่าวว่า อยากขอเรียนถึงเจตนารมย์ในการทำหนังสือว่า แน่นอนในการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานปัจจุบัน มีตัวหลักสูตร มีการจัดการเรียนรู้มีการวัดประเมินผล และมีสื่อที่ใช้ประกอบการเรียน
ส่วนประเด็นที่เป็นดรามานั้น เป็นสื่อที่เป็นหนังสือประกอบ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แต่อยากเรียนว่าเจตนารมย์ของการทำหนังสือหรือเนื้อหาตรงนี้เราต้องการสื่อในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระอยู่ คือ
ต้องการให้นักเรียนได้ศึกษาโดยการอ่าน วิเคราะห์ และ การใช้ความคิดเห็นต่อเรื่องที่อ่าน / แต่ว่าเป้าหมายจริงๆ คือต้องการให้เด็กเข้าใจในเรื่องของความดีและความสุข เพราะฉะนั้น ในหนังสือเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสมมุติ เรื่องราวขึ้นมาหนึ่งเรื่อง แล้วในเรื่องราวนั้นยังจะสะท้อนให้เห็นภาพของเด็ก ใน 2 บุคลิกหรือ 2 กลุ่ม คือภาพ ของเด็กที่เกิดมาจากหน้าสลัม ไม่ได้เกิดจากตระกูลที่มีฐานะร่ำรวย แต่เขาอาศัยอยู่ใน สลัมแล้วเขาเองก็อยู่อย่างมีความสุขได้โดยไม่ได้คำนึงถึงฐานะ ไม่คำนึงถึงวัตถุ แต่มุ่งทำคุณงามความดี แล้วมีจิตใจโอบอ้อมอารีแบ่งปัน ทุกๆอย่างให้กับเพื่อนฝูงที่อยู่ร่วมกัน ในท่ามกลางความขาดแคลน
แต่ขณะเดียวกันนั้นก็สมมุติอีกตัวหนึ่งขึ้นมาว่ามีฐานะที่ดี แต่แค่เขาเสียใจ ที่แม่ไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ จึงโกรธแค้นและไม่มีความสุข จึงมาหาเพื่อน เพื่อนจึงพามาที่บ้านที่เป็นสลัม
เมื่อมาหาเพื่อนแล้วมากินข้าวด้วยกัน มีไข่ต้มใบเดียว แล้วเอาน้ำปลาใส่ เพื่อแบ่งปัน ตรงนี้ต้องการสื่อไม่ได้ต้องการสื่อภาวะโภชนาการ แต่ ต้องการสื่อให้เด็กแยกแยะและเห็นว่า “ความสุขจริงๆ เด็กคนนั้นมาเห็นอยู่กินกัน ทั้งที่ไม่มีอะไรเลย แต่ทำไมเขามีความสุขจัง”
แล้วเด็กคนนี้ก็สื่อกลับไปว่า “เนี่ย ความสุขจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ฐานะหรือวัตถุ แต่อยู่ที่จิตใจและการกระทำของเราที่ทำกับคนอื่น อย่างคิดดี พูดดี ทำดี เพียงพอกับสิ่งที่เรามีอยู่ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันความสุขก็เกิดขึ้นได้” โดยรวมสาระดังกล่าวต้องการสื่อประเด็นนี้เพียงเท่านั้น
“ยืนยันว่าเป็นเรื่องสมมติไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม พร้อมย้ำอีกว่าที่ต้องการสื่อคือ “ความยากจนกับความมั่งมีไม่ได้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขได้แต่ความสุขอยู่ที่ใจและการกระทำต่อกัน”
นายอัมพร ยังกล่าวว่า แต่ส่วนที่ห่วงใยว่าสื่อหรือหนังสือนี้ เหมือนกับว่าเป็นการนำไปใช้ และเป็นการชักนำให้เด็กไม่รู้จักโภชนาการ ต้องบอกว่าจริงๆเรามี ส่วนเนื้อหาที่เป็นสาระที่หลักสูตรกำหนดไว้ว่าการจะกินข้าว การดำรงชีวิตอย่างไร รวมทั้งสุขภาพอนามัยจะไปอยู่ในกลุ่มของวิชาสุขศึกษาฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญอยู่แล้ว
“ตรงนี้อยากจะชี้แจงว่า ประเด็นคือเราไม่ได้ต้องการเรื่องโภชนาการ แต่ต้องการสื่อละครชีวิตว่านางเอกกับพระเอกเนี่ย กว่าเขาจะสำเร็จมีความสุขกัน ต้องผ่านวิบากกรรมอะไรมาบ้าง แล้วคนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันถูกกระทำอย่างไรบ้าง สุดท้ายก็แฮปปี้เอนดิ้ง สุดท้ายสื่อตรงนี้ก็เหมือนกัน ต้องการสื่อแค่ตรงนั้น” นายอัมพร กล่าว
ทั้งนี้ อยากทำความเข้าใจว่ามันอยู่ที่มุมมองและวิธีที่เราจะเอาไปใช้ เพราะฉะนั้นสื่อที่มีอยู่ทั้งหมดครูเอง ก็จะนำสื่อไปเข้าสู่กระบวนการเรียนแล้วพี่การวิพากษ์ อภิปรายจนสุดท้ายสรุปได้ว่าถ้าเราจะมีความสุข เราต้องดูจากอะไร ปฏิบัติตนอย่างไร แต่พอนำไปใช้ ในชีวิตจริงก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่อยู่ใน กระบวนการที่ให้นักเรียนได้อ่านเรื่องที่ผู้เขียนสมมุติขึ้น
นายอัมพร ยังบอกว่า ทั้งเล่มคือการสมมุติขึ้น แต่ละบทจะมี วัตถุประสงค์มีเป้าหมายว่าต้องการสื่อเรื่องนั้นเป็นแบบไหน รวมทั้งดรามาล่าสุดด้วยกับเรื่องที่ “ใบพลู ไปกินอาหารในที่แห่งหนึ่ง เธอกินข้าวมันไก่แต่น้ำจิ้มเผ็ด จึงตั้งใจไปขอน้ำปลาของร้านอื่น
แต่ปรากฏว่าแม่ค้าพูดกับเธอว่า “อะไรกัน ไม่ได้ซื้อข้าวแกงร้านนี้สักหน่อย จะมาขอน้ำปลา” คนขายต่อว่าก่อนจะอนุญาต “เอ้า! อยากได้ก็ตักไป” ในหนังสือบรรยายไว้ว่า ใบพลูคอหด เดินถือจานข้าวมันไก่กลับโดยไม่ได้เติมน้ำปลา ไม่เป็นไร เขาไม่เต็มใจให้ก็อย่าไปเอาของเขาดีกว่า น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ ทำอย่างไรขนบธรรมเรียนประเพณีดีๆ ของไทยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจะอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนและในทุกที่
พบว่า อยู่ในหนังสือหน้าที่ 102 ของบทที่ 6 จากคลองสู่ห้องแอร์ ซึ่งบทความนี้ น้าและหลาน ออกจากบ้านไปเที่ยวสวน ลงเรือต่างชี้ชวน ชมสองข้างหนทางจร ไมตรีของชาวบ้าน ที่เรือผ่านสะกิดสอน น้ำใจเอื้ออาทร ซาบซึ้งนักควรจักจำ เรียงความฝึกหัดเขียน หมั่นพากเพียรใช้ถ้อยคำ จินตนาการเป็นตัวนำ ด้วยภาษาน่าชื่นชม
สำหรับประเด็นนี้ นายอัมพร ระบุว่า ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้นมาเพื่อชี้ประเด็น ว่าต้องการสื่ออะไรในเรื่องนั้นๆ
เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าโลกสวย ประเด็นนี้นายอัมพร กล่าวว่า เรื่องราวในอดีตก็มีนิทาน ที่เล่าให้ลูกหลานฟังแล้วให้เด็กคิดตาม หนังสือเล่มนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นนิทานเล่มหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างสอน ให้เด็กเกิดกระบวนการคิด และนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ เราไม่ได้มีสถานการณ์จริงให้นักเรียนได้เผชิญ เราก็ต้องอยู่ในโลกของการแสดงและการละคร แต่สุดท้ายอยู่ที่ตัวเด็กว่าเมื่อไปเจอสถานการณ์จริงแล้ว จะนำไปใช้อย่างไร
เมื่อถามว่าหากสอนนักเรียนจากเรื่องสมมุติหรือสร้างขึ้นมา สุดท้ายแล้วจะสับสนหรือไม่เมื่อไปเผชิญชีวิตจริง นายอัมพร ระบุว่า ถ้าสร้างนักเรียนให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เมื่อเจออะไรเขาต้องคิดได้หมด / แต่เราไม่ได้เติมสิ่งที่เป็นเนื้อหาเข้าไปให้ว่านี่คือสิ่งที่ถูกเสมอไป แต่จริงๆเติมเครื่องมือให้ว่าเวลาไปอยู่ในโลกความเป็นจริงต้องมีข้อมูล มีข้อมูลเท็จจริง แล้วอาศัยตัวเองว่าจะเลือกหรือปฏิบัติอย่างไร
นายอัมพร ยังกล่าวว่า หนังสือภาษาพาที หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำทำขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันปี 2566 (15 ปี) ขณะเดียวกันในปัจจุบันหลักสูตรมีหลายระดับ คุณครูสามารถเลือกได้ว่าจะใช้หลักสูตรไหนมาเป็นสื่อในการสอนนักเรียน อาจจะนำเหตุการณ์ทางหนังสือพิมพ์ ในทีวีมาประกอบได้ด้วย ซึ่งครูมีสิทธ์เลือก นำเสนอแล้วเปิดประเด็นให้นักเรียนได้วิพากษ์
นายอัมพร ยังกล่าวว่า การจัดทำหนังสือมี คกก.ยกร่างการเขียน มี คกก.ตรวจกลั่นกรอง พิจารณา จนกว่าจะเห็นว่าสมบูรณ์แล้วนำไปใช้ได้ แต่แน่นอนหากถามว่าจะมีปรับปรุงหรือแก้ไขใหม่หรือไม่นั้น ไม่มีอะไรอยู่ถาวร เราต้องปรับปรุงไปตามสถานการณ์
นายอัมพร ยังกล่าวว่า หนังสือภาษาพาที ชั้น ป.5 ล่าสุดได้มีการเตรียมการแล้วว่า ให้มีการตั้ง คกก. ขึ้นมา เพื่อตรวจว่ามีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ หรือต้องปรับปรุงตรงไหน เช่น ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน หรือเนื้อหาสาระที่สังคมมีความเข้าใจไม่ตรวจกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการหารือประเด็นดังกล่าว
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/wF1rGQZ2ckc