สังคม

เปิด 4 เหตุผล ศาลยกฟ้องคดีผู้บริโภค ไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต หลังถูกมิจฉาชีพดูดเงิน

โดย nattachat_c

5 ชั่วโมงที่แล้ว

378 views

ศาลยกฟ้อง! ผู้บริโภคถูกธนาคารฟ้องหนี้บัตรเครดิต จากการถูกมิจฉาชีพแฮกแอปฯ บัตรเครดิต ก่อนเบิกเงินสดไปบัญชีธนาคารแล้วดูดเงินออก หลังมิจฉาชีพหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน แจ้งต้องชำระภาษีฯ วันสุดท้าย ให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์หลอกกดลิงก์-ดาวน์โหลดแอปฯ-กรอกข้อมูลส่วนตัว ศาลฯ ชี้ ผู้บริโภครีบแจ้งธนาคารบัตรเครดิตทันทีแล้ว-เงินที่ถูกโจรกรรมเป็นเงินของธนาคาร ไม่ใช่เงินของผู้บริโภคฯ


วานนี้ (19 ก.ย. 67) นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพเข้าถึงแอปพลิเคชั่นบัตรเครดิต และเบิกถอนเงินสดออกไปยังบัญชีธนาคาร อีกทั้ง ยังถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร จึงได้โทรศัพท์เพื่อแจ้งธนาคารและแจ้งความไว้ด้วย


ต่อมา ผู้บริโภครายดังกล่าวถูกธนาคารบัตรเครดิตฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ชำระค่าบริการตามรายการที่ถูกมิจฉาชีพเบิกถอน จึงมาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยเหลือด้านคดี


จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ศาลแขวงระยอง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ 4 ประการ ได้แก่


1) หลังจากเกิดเหตุผู้บริโภครีบแจ้งธนาคารบัตรเครดิตทันที ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าผู้บริโภคได้รีบดำเนินการเมื่อทราบเหตุ แต่เมื่อ ริษัททราบเรื่องจากผู้บริโภคแล้วกลับเพียงแจ้งให้ผู้บรโภคไปแจ้งความกับตำรวจ และไม่ได้ดำเนินการอื่น เพื่อปกป้องไม่ให้เงินถูกถ่ายโอนไปยังบัญชีอื่น ๆ


2) เงินที่ถูกโจรกรรมเป็นเงินของธนาคารบัตรเครดิต ไม่ใช่เงินของผู้บริโภค


3) ธนาคารบัตรเครดิตเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงิน และเป็นจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไป สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกัยธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น เพื่อระงับ หรือายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เพื่อตรวจสอบได้ แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อยกระดับการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว


4) แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงเรื่องการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร โดยข้อ 3.2 กำหนดชัดเจนว่า “กรณีเหตุการณ์ทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร  และมีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตร หรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน”


ดังนั้น เป็นความรับผิดชอบของธนาคารบัตรเครดิตฯ ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ควรมาฟ้องผู้บริโภคต่อศาล


นายโสภณ กล่าวย้ำว่า การที่ธนาคารบัตรเครดิตฟ้องร้องผู้บริโภคในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามมาตร 12 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ศาลจึงมีคำสั่งยกฟ้อง


นอกจากนี้ นายโสภณ ยังมองว่าการเรียกร้องให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าให้รับผิด เป็นการใช้สิทธิโดยไม่เป็นธรรม และทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาอันเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมการเงินด้วยตัวเอง และเงินที่โอนออกไปไม่ใช่เงินของผู้บริโภค จึงไม่ควรผลักภาระให้ผู้บริโภครับผิดชอบหนี้สินบัตรเครดิตได้


นายโสภณ ยังกล่าวอีกว่า คำพิพากษาของศาลแขวงระยอง ถือเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อเงินที่ถูกโอนออกไปจากภัยทุจริตทางการเงินเอง ไม่ใช่มาฟ้องคดีให้ผู้บริโภครับผิด


และคำพิพากษานี้ ยังย้ำถึงหน้าที่ของธนาคารที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่น เพื่อระงับ ยับยั้ง หรืออายัดเงิน ที่ลูกค้าผู้ถือบัตรได้แจ้งเหตุว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไว้ชั่วคราว เพื่อตรวจสอบโดยง่าย


และย้ำอีกว่า ธนาคารต้องทำตามประกาศของแบงก์ชาติ จึงเห็นว่าธนาคารทุกธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ต้องยึดคำพิพากษานี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และไม่ควรอุทธรณฺคดี


นายโสภณ กล่าวว่า ข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคคือ หากผู้บริโภคโดนมิจฉาชีพดูดเงิน ต้องรีบแจ้งธนาคาร และแจ้งความกับตำรวจทันที ซึ่งจะช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ใจของผู้บริโภคว่า ไม่ใช่ผู้ทำธุรกรรม และเป็นข้อสำคัญที่จะใช้ต่อสู้ในคดีด้วย

สำหรับรายละเอียดของคดีดังกล่าว นายโสภณ เล่าว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ผู้บริโภคได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แจ้งเตือนว่าผู้ร้องต้องชำระภาษีที่อยู่อาศัยเป็นวันสุดท้าย โดยเสนอให้ชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ บุคคลที่โทรศัพท์มามีข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินของผู้บริโภค ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง


จากนั้น ผู้บริโภครายดังกล่าวได้เพิ่มเพื่อนผ่านไลน์ และทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ โดยกดลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ และกรอกข้อมูลส่วนตัว ระหว่างกระบวนการยืนยันตัวตน ผู้บริโภคเกิดสงสัย และหยุดดำเนินการ พร้อมปิดโทรศัพท์ แต่พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บัตรเครดิตของตัวเองถูกใช้ในการขอเพิ่มวงเงิน และเบิกถอนเงินสด 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 35,000 บาท ซึ่งถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของผู้บริโภคเอง จากนั้น เงินถูกโอนออกไปยังบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่รู้จัก


นายโสภณ กล่าวอีกว่า หลังจากรู้ตัว ผู้บริโภคพยายามขอความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการบัตรเครดิต แต่ได้รับคำแนะนำให้ไปแจ้งความเพียงอย่างเดียว จึงได้ดำเนินการแจ้งความกับตำรวจ และร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาผู้บริโภค


ทั้งนี้ ผู้บริโภคยืนยันว่า หนี้บัตรเครดิตดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการกระทำของตัวเอง  แต่เกิดจากการถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค ได้พิจารณาหลักฐาน และข้อเท็จจริงแล้ว จึงมีมติให้ช่วยเหลือผู้บริโภครายดังกล่าวในด้านการดำเนินคดี โดยได้แต่งตั้งทนายความเข้าช่วยเหลือจนกระทั่งศาลยกฟ้องในที่สุด



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/ClhQjnn45sE



คุณอาจสนใจ

Related News