สังคม

ตร.งัดหลักฐานวงจรปิด ‘นักข่าว–ช่างภาพอิสระ’ ร่วมวางแผน มือพ่นสี – ‘เศรษฐา’ ปัดรัฐฯปิดปากสื่อ ลั่นมีแต่ให้เกียรติ

โดย petchpawee_k

14 ก.พ. 2567

154 views

ตำรวจงัดหลักฐานวงจรปิด พบ "นักข่าว–ช่างภาพอิสระ” ถูกตำรวจจับ นัดเจอกับมือพ่นสี ร่วมประชุมวางเเผน ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน สำรวจสถานที่ ก่อนไปยืนรอถ่ายภาพหน้าถนนพระลาน ช่วงที่มือพ่นสีก่อเหตุพ่นข้อความบนกำเเพงวัดพระเเก้ว แล้วพากันกระจายต่อในโลกโซเชียล


จากกรณีนายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ ผู้สื่อข่าวของประชาไท ถูกตำรวจชุดนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับในข้อหา เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ โดยหมายจับครั้งนี้คาดว่า สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้นายณัฐพล พร้อมผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอื่น ได้ติดตามรายงานข่าวเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 เวลาประมาณ 17.40 น. กรณีที่นายบังเอิญ (สงวนนามสกุล) ศิลปิน อายุ 25 ปี  ได้พ่นสีข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว  


วานนี้ (13 ก.พ.) มีการแชร์ภาพจากกล้องวงจรปิดจากตำรวจ สน.พระราชวัง ถึงการกระทำที่นำไปสู่การออกหมายจับ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า มีเบื้องหลังและมีพยานหลักฐานนำไปสู่การออกหมายจับและดำเนินคดีนายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุน ทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ/ พ่นข้อความคัดค้าน ม.112 ที่กำแพงวัดพระแก้ว


หลักฐานของตำรวจเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งยืนยันว่านายณัฐพล ที่อ้างว่าทำหน้าที่สื่อนั้น แท้จริงแล้ว ร่วมประชุมวางแผนกับกลุ่มผู้ก่อเหตุพ่นบริเวณกำแพงวัดพระแก้ว ตั้งแต่ก่อนก่อเหตุ 1 วัน  โดยหลักฐานกล้องวงจรปิดพบว่า ช่วงเย็นถึงค่ำก่อนเกิดเหตุพ่นสี  นายณัฐพล กับกลุ่มคนที่ร่วมก่อเหตุพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ไปหารือเพื่อวางแผนสำรวจสถานที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง


จากนั้น ในวันเกิดเหตุ คนกลุ่มเดิมก็ไปรวมตัวกันในเวลา  16.00 น.  โดยตั้งแต่ 14.40 น.ถึง 18.00 น. ทุกคนเข้าประจำจุดแล้วทำหน้าที่ของตัวเอง  มีนายศุทธวีร์ หรือ บังเอิญ เป็นผู้พ่นสี  ส่วนนายณัฐพล มีหน้าที่ถ่ายภาพ  ส่วนเพื่อนร่วมกลุ่มอีกคนเป็นผู้หญิงทำหน้าที่ไลฟ์สด  อีกคนเป็นชายทำหน้าที่ถ่ายวีดีโอ  เพื่อนร่วมกลุ่มอีกคนทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่ง  และตะวัน เป็นคนกระจายคลิปและภาพต่าง ๆ ลงโซเชียล


ซึ่งภาพจากกล้องวงจรปิดจะมีความชัดเจนว่า นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ เข้าที่เกิดเหตุก่อนที่จะมีการก่อเหตุ แล้วมีพฤติกรรม รอถ่ายภาพที่นายศุทธวีร์ เตรียมดำเนินการ  เพราะหากไม่ทราบแผนมาก่อน จะไม่สามารถนำเอาอุปกรณ์ มารอถ่ายภาพที่เกิดเหตุได้เลย และยังภาพวงจรปิดการพบปะกันของคนกลุ่มนี้ล่วงหน้าด้วย นี่จึงเป็นพยานหลักฐานที่ตำรวจนำมายืนยันในการนำไปสู่การออกหมายจับ


นอกจากนี้ยังมีนายณัฐพล หรือ ยา พันธ์พงส์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ก็ถูกตำรวจแสดงหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุน ทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความตาม พ.ร.บ.โบราณสถานและ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ  ก่อนที่วานนี้พนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เข้ารับตัวนายณัฐพล หรือยา ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ไปฝากขังต่อศาลอาญารัชดา เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้สมรู้ร่วมคิด / กระทั่งทั้งสองได้รับประกันตัวในเวลาต่อมา

ไล่เรียงกล้องวงจรปิดความเชื่อมโยงบุคคลก่อนวันเกิดเหตุ  27 มีนาคม 2566

ช่วงเวลา 18.00 ถึง 19.30 น. ทุกคนได้เดินทางมาบริเวณหน้าศาลฎีกาเพื่อวางแผนและสำรวจเส้นทางก่อเหตุ 18.19 น. นายศุทธวีร์ หรือ บังเอิญ ได้เดินทางมาถึงบริเวณป้ายรถประจำทางตรงข้ามศาลฎีกา จากนั้นนายศุทธวีร์  มาที่บริณหน้าศาลฎีกา  เพื่อมาหานายสิทธิชัย ที่รออยู่

19.23 น.นายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์ (ช่างภาพอิสระ) ได้พูดคุยกับนายเวหา ,นายณัฐพล เมฆโสภณ (ประชาไท) , นายศุทธวีร์, นายสิทธิชัย

18.36 น. นายศุทธวีร์ ได้เดินไปตามถนนหน้าพระลาน เพื่อสำรวจสถานที่ก่อเหตุ


18.18 น. นายศุทธวีร์ ได้เดินพูดคุยกับนายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์


18.26 น.  นายศุทธวีร์ ได้เข้าร่วมนั่งพูดคุยกับกลุ่มคนที่ทำกิจรรมยืนหยุดขัง /จากนั้นนายเวหา ,นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ (ผู้สื่อข่าวของประชาไท) เดินทางมายังบริเวณดังกล่าวอีกครั้งหลังจากเข้าไปบริเวณที่สนามหลวง เชื่อได้ว่าน่าจะไปถ่ายรูปที่ได้โพสต์ในโซเชียล


ขณะที่กล้องวงจรปิดบริเวณหน้าศาลฎีกา วันที่ 27 มีนาคม 2566 บันทึกภาพบุคคลที่นายศุทธวีร์ พบ โดยเวลา 18.23 น. นายศุทธวีร์ และนายสิทธิชัย ได้เดินทางมาหานายเวหา ,นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ ,นายณัฐพล หรือ ยา พันธ์พงส์สานนท์  ที่ยืนรออยู่ก่อนแล้ว โดยมีการพูดคุยกันประมาณ 10 นาที


นอกจากนี้วงจรปิดวันที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 19.26 น. นายศุทธวีร์ ได้กลับมาที่หน้าศาลฎีกาอีกครั้ง /19.26 น. นายศุทธวีร์ ได้พบปะนายเวหา, นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ (ผู้สื่อข่าวประชาไท) อีกครั้งแล้วมีการพูดคยกันประมาณ 20 นาที แล้วก็แยกย้ายกัน


กล้องวงจรปิดความเชื่อมโยงบุคคลในวันเกิดเหตุ 28 มีนาคม 2566


ช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ 16.00-17.40 น. ทุกคนมารวมตัวกันในบริเวณรอบๆ สถานที่ ที่นายศุทธวีร์ จะก่อเหตุ  ภาพวงจรปิดเวลา 16.59 น. รอบสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน น.ส.ธนลภย์  หรือ หยก ลงรถประจำทางสาย 82 บริเวณหน้าศาลฎีกา


17.23 น. ในสนามหลวง น.ส.ธนลภย์  อยู่ในบริเวณสนามหลวง  จนถึงเวลา 16.56 น.  นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ (ผู้สื่อข่าวประชาไท) ขึ้นมาจากถนนใต้อุโมงค์ ฝั่ง ม.ศิลปากร ถ.หน้าพระธาตุ / 16.57 น. นายณัฐพล เมฆโสภณ เดินอยู่ภายในสนามหลวง

เวลา 16.49 น. นายนภสินธุ์  ตรีรยาภิวัฒน์ (สายน้ำ/ ทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอตอนก่อเหตุมุมซ้าย) และนายสุธี ไกรจรูญ เดินเข้าไปในบริเวณสนามหลวง และนั่งพักอยู่ในบริเวณสนามหลวง


17.36 น. นายนภสินธุ์  ตรีรยาภิวัฒน์ (สายน้ำ) และนายสุธี ไกรจรูญ อยู่บริเวณที่ป้อมเผด็จหน้าศาลหลักเมือง 16.58 น. นายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์ ช่างภาพอิสระ (ทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งขณะก่อเหตุโดยใช้กล้อง )อยู่หน้าร้านกาแฟอเมซอนข้างกระทรวงกลาโหม


เวลา 17.40 น. ถึง 18.00 น. ทุกคนเข้าประจำจุดและทำหน้าที่ที่แต่ละคนรับผิดชอบ  นายศุทธวีร์ กำลังก่อเหตุ


เวลา 17.35 น.  นายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์  ช่างภาพอิสระ จะคอยถ่ายรูปตั้งแต่การก่อเหตุรวมถึงการจับกุมโดยกล้อง (นายณัฐพล ทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งขณะก่อเหตุโดยใช้กล้อง)


เวลา 17.39 น. นายศุทธวีร์ ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง


17.40 น. นายนภสินธุ์  ตรีรยาภิวัฒน์ (สายน้ำ)  และนายสุธี ไกรจรูญ วิ่งมาจากหน้าศาลหลักเมืองเพื่อมาบันทึกภาพ ขณะนายศุทธวีร์ ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง


17.40 น. นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ ผู้สื่อข่าวของประชาไท ได้ยืนรอถ่ายคลิปวิดีโอ ขณะที่นายศุทธวีร์ ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง


17.41 น. น.ส.ธนลภย์  หรือหยก ยืนไลฟ์สดขณะเกิดเหตุจากภายในสนามหลวง จากนั้น น.ส.ทานตะวัน  ตัวตุลานนท์  โพสต์คลิปวิดีโอนี้เป็นคนแรก ลงในสื่อโซเชียลมีเดียภายหลังก่อเหตุในทันที ในเฟซบุ๊กชื่อ Tawan Tantawan ในเวลา 17.49 น.


ดังนั้นหากดูหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่ตำรวจนำมาเผยแพร่แล้ว จะพบว่าการก่อเหตุครั้งนี้มีการวางแผนร่วมกันทั้งก่อนและหลังก่อเหตุ โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระ รวม 2 คน ที่ถูกจับกุม ร่วมวางแผนด้วย /ซึ่งในวันเกิดเหตุ คือวันที่ 28 มีนาคม 2566 มีการเผยภาพในสื่อโซเชียลมีเดียด้วย


เวลา 17.19 น. น.ส.ธนลภย์  ผลัญชัย หรือหยก  ยืนถ่ายภาพขณะที่นายศุทธวีร์ ก่อเหตุ ยืนอยู่ภายในสนามหลวงกับจุดเกิดเหตุ ภาพที่ปรากฎในสื่อโซเชียลไลฟ์สด


เวลา 17 .19 น. นายนภสินธุ์  ตรีรยาภิวัฒน์ (สายน้ำ) ได้ยืนถ่ายภาพขณะนายศุทธวีร์ ก่อเหตุ ยืนถ่ายรูปที่บริเวณสนามหลวงตรงข้ามป้อมเผด็จ ภาพที่ปรากฎในสื่อโซเชียลเป็นภาพมุมซ้ายผู้ก่อเหตุ


เวลา 17.39 น. นายศุทธวีร์ ได้ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง  ถ.หน้าพระลาน ภาพที่ปรากฎในสื่อโซเชียลเฟซบุ๊ก น.ส.ทานตะวัน


เวลา 17.39 น. นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ (ผู้สื่อข่าวประชาไท) ได้ยืนถ่ายภาพขณะนายศุทธวีร์ ก่อเหตุ ยืนถ่ายรูปอยู่บริเวณมุมสนามหลวงฝั่งทิศตะวันตก ภาพที่ปรากฎในสื่อโซเชียลเป็นภาพมุมขวาผู้ก่อเหตุ

-----------------------------------------------------

ศาลให้ประกันตัว “นักข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ” วางเงินคนละ 35,000 บาท – ก่อนเปิดใจ ยืนยัน ไม่ได้มีการนัดแนะมือพ่นสี เพียงไปทำข่าว เท่านั้น ย้ำชัด ไม่ได้สนับสนุน ระบุ จากนี้ยังคงทำงานเหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไร


 วานนี้ (13 ก.พ.67) เวลา 15.00 น. ที่ศาลอาญา  ถ.รัชดาภิเษก ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ยื่นคำร้องฝากขังนายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ นักข่าวและช่างภาพ สำนักข่าวออนไลน์สเปซบาร์ ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค.2566 โดยตำรวจจาก สน.พระราชวัง ในคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ต่อมาศาลอาญาให้ประกันตัวทั้ง 2 คน วางเงินคนละ 35,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขอื่น


จากนั้นเวลา 16.25 น. ได้ออกมาเปิดใจกับสื่อมวลชนครั้งแรกหลังศาลให้ประกันชั่วคราว ซึ่งทั้งสองคนได้สวมใส่เสื้อยืดสีขาว สกรีนตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า “Journalism is not a crime”


 โดยนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือยา ช่างภาพอิสระ  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ตำรวจเปิดหลักฐานว่ามีการนัดเจอมือพ่นสี ว่า ตนได้เจอน้องผู้ที่ก่อเหตุในการทำกิจกรรมยืน หยุด ขังที่หน้าศาลฎีกา จำไม่ได้ว่าก่อนที่จะมีเหตุพ่นสีหรือไม่ ก็มีการพูดคุยกัน คิดว่าการคุยกับแหล่งข่าวเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่าห้ามคุยกัน เป็นการหาข่าว ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าเป็นพวกเดียวกัน ตนรู้ก่อนจะมีการทำกิจกรรมพ่นสี 10 นาที มั่นใจว่าตนเองไปรายงานสถานการณ์และไปสังเกตการณ์ ไม่ได้เข้าไปขัดขวางกระบวนของเจ้าหน้าที่ ตนถ่ายภาพอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีการนัดแนะกัน ก็ต้องดูว่าทางตำรวจมีพยานหลักฐานว่าตนนัดแนะกับผู้ก่อเหตุจริงหรือไม่ แต่คิดว่าคงไม่มี


เมื่อถามว่า ตำรวจมีกล้องวงจรปิดว่าไปถึงสถานที่ก่อน 10 นาที มีการพูดคุยกันก่อนก่อเหตุ   นายณัฐพล ยอมรับว่ามีการคุยกันจริง แต่ไม่ใช่วันที่เกิดเหตุ น่าจะเป็นวันที่ไปถ่ายกิจกรรมหยุดขัง


นายณัฐพล หรือยา กล่าวอีกว่า ที่ตนทราบการจัดกิจกรรมพ่นสีนั้น ก็ทราบมาจากนายณัฐพล หรือเป้ ผู้สื่อข่าวประชาไท  “ที่ผ่านมาตนวางตัวชัดเจนว่า เรามาทำงาน วางตัวระดับหนึ่งแล้ว ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า เรามาทำงานจริงๆ มั่นใจว่าเรามีเส้นแบ่งชัดเจน แต่คนที่มองเข้ามาอาจจะคิดไม่ตรงกับเราหรือเปล่า ก็ไม่อาจทราบได้ ”


เมื่อถามว่า คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่  นายณัฐพล ช่างภาพอิสระ กล่าวว่า ในใจลึกๆ ก็คิดว่ามีส่วน เนื่องจากคดีที่โดนไม่น่าจะเกี่ยวกับตนเลย ไม่เคยคิดว่าจะโดนคดีเอง เพราะทุกทีเป็นคนทำข่าว    


เมื่อถามว่า ตอนจับกุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายหรือไม่ นายณัฐพล หรือยา กล่าวว่า รู้สึกดีที่มีส่วนช่วยให้พ.ร.บ.อุ้มหายสำเร็จ เพราะตอนจับกุมเจ้าหน้าที่ย้ำเสมอว่า บันทึกภาพวิดีโอ และบอกว่าสามารถแจ้งทนายความได้

ด้านนายณัฐพล เมฆโสภณ (เป้) ผู้สื่อข่าวประชาไท กล่าวว่า ตนไม่มีคิดว่าหลักฐานของตำรวจแค่นั้น จะเอามาตีความ ขยายความว่ามีการร่วมกันกระทำการดังกล่าวได้ ซึ่งการสู้คดีก็ขอพูดคุยกับทนายความก่อน ยืนยันว่าเราไปทำข่าว ไม่ได้ไปสนับสนุนใดๆ ตนเองไม่ทราบถึงรายละเอียด รู้เพียงว่ามีการจัดกิจกรรม จึงขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ยืนยันในหลักการว่า เราไปเสนอข่าวในวันนั้นจริง


 เมื่อถามว่าทราบข่าวจากไหนว่าจะมีกิจกรรมพ่นสีรั้ววัดพระแก้ว  นายณัฐพล เมฆโสภณ (เป้) กล่าวว่า อันนี้ขอปรึกษาทนายความก่อน ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ได้  เมื่อถามว่า เกิดคดีนี้ขึ้น จะมีการทบทวนการทำงานหรือไม่  นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ กล่าวว่า คงจะทำงานเหมือนเดิม ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เรื่องการทำงานอาจจะมีการคุยกันในกองข่าว
-------------------------------------------------

นายกฯ ยัน รัฐบาลไม่ได้ปิดปากสื่อ มีแต่ให้เกียรติ สิทธิเสรีภาพตอบคำถามทุกเรื่อง กรณีสื่อถูกจับเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้กลั่นแกล้ง


เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.67)  เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระ ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานกับ พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งถูกมองเป็นการฟ้องปิดปากสื่อ  โดยนายเศรษฐา ระบุว่า รัฐบาลนี้ให้ความยุติธรรมในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อพอสมควร จากที่สื่อเห็น 5-6 เดือน ที่ตนทำงานมา ตนมีอะไรก็ตอบ ให้เกียรติซึ่งกันและกันตลอดเวลา ดังนั้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ เชื่อว่ารัฐบาลนี้ รัฐมนตรีทุกท่าน ให้ความสำคัญและให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด


ส่วนเรื่องนักข่าวที่ถูกจับ  เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องไปดูแลให้เหมาะสม และหากจะให้ตนสั่งการ  ก็ยืนยันว่า ไม่มีการกลั่นแกล้งแน่นอน ทุกอย่างว่าไปตามตัวบทกฎหมาย  และเชื่อมั่นว่าการกระทำของรัฐบาลนี้ รัฐมนตรีทุกท่าน เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเราให้สิทธิเสรีภาพสื่อ


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/ScqJblhr_XU


คุณอาจสนใจ

Related News