สังคม

ตัวแทนน.ศ.ยื่นฟ้อง​ "บิ๊กตู่-ผบ.ทสส." ขอศาลยกเลิก ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดย taweelap_b

22 ส.ค. 2565

8 views

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 เวลา 10.00 น. ที่​ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก​ ตัวแทนกลุ่มนิสิตและนักศึกษาจากสถาบันต่าง​ ๆ​ นำโดย น.ส.เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กับพวก​รวม 7 คน ได้เข้ายื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งยกเลิก มาตรา 9 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558


ทั้งนี้​ สืบเนื่องจากวันที่ 27 ก.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม”


นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม​ หรือ​ ทนายรอน ในนามภาคีนักฎหมายสิทธิมนุษยชน และผู้นำองค์การนักศึกษา​ เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อให้เพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 47 และประกาศของผบ.ทสส.ในฉบับที่ 45 เนื้อหาที่ยืนในวันนี้คือประกาศทั้ง 2 ฉบับบอกว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินให้นำพ.ร.บ.ชุมนุมมาใช้โดยอนุโลมนั้นหมายถึงการลักไก่เพิ่มโทษให้การชุมนุมสาธารณะมีโทษที่หนักขึ้น เดิมทีตามพ.ร.บ.ชุมนุม ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าตามข้อกำหนดและประกาศฉบับนี้จะมีอัตราโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นการออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มโทษกฎหมายพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ส่วนอีกประเด็น คือ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กลไกการร้องขอให้เลิกการชุมนุมต้องผ่านศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดเท่านั้น แล้วข้อกำหนดฉบับนี้ให้ผบ.ทสส.ออกแบบแผนต่าง ๆ ในการสั่งเลิกการชุมนุมได้โดยไม่ต้องผ่านกลไกของศาล ดังนั้น จึงเป็น 2 ประเด็นหลักที่มายื่นฟ้องในวันนี้ และจะขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวสั่งไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดในฉบับนี้ เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าในวันที่ 23-24 ส.ค. 65 จะมีการจัดการชุมนุม


น.ส.เจนิสษา กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มมีความกังวลว่า หัวข้อที่กำหนดในมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ฉุกเฉินและตัวประกาศมีความไม่เป็นธรรมต่อตัวกลุ่มผู้ร้องและประชาชน เพราะมีการลักไก่ในการเพิ่มโทษ โดยมีการอ้างว่า การประกาศใช้เพื่อควบคุมโควิด-19 แต่มีการตั้งข้อสังเกตของทางกลุ่มว่า ใช้เพื่อควบคุมโรคหรือควบคุมสิ่งใดกันแน่


"ท่านใช้ควบคุมการชุมนุม ที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปหรือเปล่า ด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมายื่นฟ้อง เพื่อขอเพิกถอนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้" น.ส.เจนิสษา กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News