สังคม
เปิดแหล่งอาชญากรรมออนไลน์ ชายแดนไทย-เมียนมา ฝ่ายค้านร้องรบ.เร่งปราบจริงจัง
โดย panwilai_c
9 ก.ค. 2567
121 views
มีความคืบหน้ากรณีที่ข่าว 3 มิติ รายงานการขอความช่วยเหลือจากเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโมร็อกโก จำนวน 21 คน ที่ถูกหลอกมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมออนไลน์ในฝั่งเมียนมา ตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งล่าสุดได้รับความช่วยเหลือมายังประเทศไทยแล้ว และเข้าสู่กลไกส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM เพื่อคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์
ขณะที่ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบแหล่งที่ตั้ง ที่เหยื่อชาวโมร็อกโกร้องขอความช่วยเหลือมีอยู่จริง และพบว่าในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุมบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ในพื้นที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก ได้มากถึง 1,843 คน นอกจากจะเป็นชาวเมียนมา ชาวจีนแล้ว พบว่าเป็นต่างชาติที่มาจากประเทศในแอฟริกาจำนวนมากด้วย
สส.ฝ่ายค้านที่ติดตามกรณีนี้จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน และตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญกรรมตามแนวชายแดนอย่างจริงจัง
ที่ตั้งชุมชนกลางหุบเขาพื้นที่ชายแดนไทยที่แม้จะตั้งอยู่ในฝั่งประเทศเมียนมา แต่มองเห็นชัดเจนจากฝั่งไทยเพราะตั้งอยู่ติดแม่น้ำเมย อาคารที่เห็นหลังคาสีแดง สีน้ำเงิน เป็นที่ตั้งที่เหยื่อชาวโมร็อกโก ร้องขอความช่วยเหลือว่าถูกหลอกมาทำงานสแกมเมอร์ โดยคิดว่าจะมาทำงานในไทย แต่กลับถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินมายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มารู้ตัวก็ถูกบังคับให้ทำงาน ทันทีที่มาถึงตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม
จากการพูดคุยกับเหยื่อ ยืนยันว่า ภายในสถานที่ที่ถูกบังคับให้ทำงาน มีหลายบริษัท ตามแต่ละอาคาร และมีที่พัก ภายในมีธนาคาร คาสิโน และร้านอาหาร บางตึกมีชาวไต้หวันทำงานอยู่ทั้งตึก และเหยื่อยืนยันว่ามีหลายชาติที่ถูกหลอกมาทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่งมีภาพหลักฐานยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกาย บังคับให้ทำงาน ซึ่งกลุ่มเหยื่อชาวโมร็อกโก ให้ทำงานในแอปหาคู่ เป็นสแกมเมอร์ไปหลอกชาวสหรัฐอเมริกาให้ลงทุนในคริปโต เมื่อพวกเขาไม่ยินยอมก็ถูกทำร้าย และมีเหยื่อ 6 ราย ที่รอดพ้นมาได้เพราะต้องจ่ายค่าไถ่ ไม่ต่ำกว่า 2 แสน ถึง 3 แสนบาท
เหยื่อชาวโมร็อกโก 6 รายที่ต้องจ่ายค่าไถ่และได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว ถูกนำเข้าสู่กลไกส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ที่อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก เพื่อคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ และอีก 12 รายที่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู ได้ประสานความช่วยเหลือนำตัวกลับมาอย่างปลอดภัยและนำตัวเข้ากลไก NRM เช่นกัน ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการคัดกรองโดยสหวิชาชีพ นำโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก หากคัดแยกเสร็จแล้ว กลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนก่อนส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนผู้เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดี
ขณะที่ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบข้อมูลการจับกุมบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฏหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 8 กรกฏาคม 2567 พบว่ามีการจับกุม 461 ครั้ง รวม 1,843 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวเมียนมา 1,450 คน ชาวจีน 191 คน ที่เหลือ 202 คน เป็นชาติอื่นๆ ซึ่งพว่ามีชาวมาเลเซีย 26 คน ยูกันยา 23 คน เอธิโอเปีย 25 คน เวียดนาม 22 คน ลาว 15 คน ออสเตรีเลย 7 คน สหรัฐอเมริกา 6 คน กัมพูชา 7 คน อินเดีย 7 คน ไต้หวัน 3 คน เคนยา 2 คน ปากีสถาน 5 คน คาซัคสถาน 2 คน โมร็อกโก 11 คน และยังมีบังคลาเทศ ตูนีเซีย ไนจีเรีย บลารุส แซมเบีย สหราชอาณาจักร บุรุนดี ญี่ปุ่นกานา และเยเมน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีที่พบว่าถูกหลอกลวงไปทำงานฝั่งเมียนมา
นี่จึงกลายเป็นหลักฐานว่ามีชาวต่างชาติที่เดินทางมาไกลจากซีกโลก ถูกหลอกลวงโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อทำงานในแหล่งอาชญากรรมในประเทศเมียนมา ที่ สส.ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับความจริง และปราบปรามเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งเรื่องเร่งด่วนในการเปิดศูนย์ช่วยเหลือ SOS และศูนย์ปราบปรามอาชากรรมตามแนวชายแดน ซึ่งต้องร่วมมือกับประเทศต่างที่มีทั้งตกเป็นเหยื่อมาทำงานและตกเป็นเหยื่อหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
นอกจากนี้ต้องให้กรณีของเหยื่อชาวโมร็อกโก ได้รับการสอบสวนอย่างเป็นธรรม หากเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จริงก็ต้องยอมรับและเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีกวาดล้างอย่างจริงจัง
ข่าว 3 มิติ ยังได้รับการยืนยันมาจากเหยื่อหลายชาติว่ายังติดค้างต้องการความช่วยเหลืออกมาจำนวนมาก และอยากให้หยุดยั้งขบวนการนี้ เพราะล่าสุดมีรายงานว่าชาวโมร็อกโก 10 รายถูกนำตัวมาที่อำเภอแม่สอด แล้ว รอการส่งตัวไปยังฝั่งเมียนมา
แท็กที่เกี่ยวข้อง อาชญากรรมออนไลน์ ,ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ,รัฐบาล ,ชายแดนไทย-เมียนมา