สังคม

'จิสด้า-นาซ่า' ร่วมวิจัยคุณภาพอากาศในไทย ใช้เครื่องบิน DC 8 ลำ ควบคู่เทคโนโลยีดาวเทียม GEM

โดย parichat_p

17 มี.ค. 2567

125 views

หลายวันมานี้หลายคนอาจสังเกตเห็นเครื่องบินที่บินต่ำกว่าระดับทั่วไป ซึ่งนั่นคือ เครื่องบินตรวจสอบมลภาวะทางอากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า ที่มาร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ตรวจสอบคุณภาพอากาศในประเทศไทย ในชื่อโครงการ ASIA-AQ โดยจะเริ่มปฏิบัติการเก็บข้อมูลเหนือน่านฟ้าไทย ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาสรุปผล และ ข้อมูลชุดนี้ก็จะเป็นข้อมูลเชิงลึก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาใช้วิเคราะห์การจัดการและลดมลพิษทางอากาศได้ เครื่องบินลำนี้ จะช่วยแก้ปัญหามลพิษให้กับประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง


โครงการ Air borne and Satellite Investigation of Asian air quality หรือ ASIA-AQ เป็นการลงนามความร่วมมือ ระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า กับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่นาซ่าตั้งใจมาศึกษา โดยมีเทคโนโลยีเฉพาะที่ติดตั้งไว้บนเครื่องบิน DC-8 และ G-III


นายแบรี่ เลเฟอร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการของนาซา ได้อธิบายถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งบนเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ซึ่งใช้เก็บช้อมูลต่างกัน


เครื่องบิน DC 8 ลำใหญ่ จะใช้เก็บข้อมูลคุณภาพอากาศในค่าความละเอียดสูง ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม GEM ของเกาหลีใต้ วิเคราะห์ผ่าน 5 ตัวแปรสำคัญ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไตรออกไซด์ ฟอมัลเดอไฮด์ โอโซน และค่าฝุ่นละออกขนาดเล็ก


โดยจะบินเก็บข้อมูลสภาพอากาศตั้งแต่กรุงเทพมหานคร จนถึงจังหวัดเชียงใหม่ แบบไปกลับในลักษณะการบินไต่ระดับเพดานสูงต่ำขึ้นลงสลับกันไปจนถึง 28000 ฟุต ตลอดเส้นทาง เช่น ตัวอย่างบนหน้าจอนี้ก็เป็นการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศระหว่างบินจากเกาหลีใต้มายังประเทศไทย


ส่วนเครื่องบินเล็ก G-III จะใช้เก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยเครื่องไลดาร์ เพื่อสร้างข้อมูลเชิงกายภาพเป็น 3 มิติ โดยจะบินจากสนามบินอู่ตะเภาถึงกรุงเทพ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง


นายแบรี่ ระบุว่า โครงการนี้ตั้งเป้าการศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศภูมิภาคเอเชีย 5 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ที่มีประสบปัญหามลภาวะทางอากาศคล้ายกัน



แต่ในข้อเท็จจริงเมื่อนำเทคโนโลยีมาตรวจสอบก็จะพบว่ามลพิษที่เกิดขึ้นมาจากคนละปัจจัย โดยข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของปัญหาสู่การแก้ไขตั้งแต่ต้นตอของแหล่งที่มาให้ดีขึ้นได้ ในลักษณะชุดข้อมูลการเกิดฝุ่นทั้งแนวตั้งและแนวนอน


โครงการนี้ทางจิสดา ได้ลงนามความร่วมมือกับนาซ่า เป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานในประเทศ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเครื่องมือที่ประเทศไทยยังไม่มี มาวิเคราะห์รายละเอียดองค์ประกอบของอากาศ เพื่อแก้ปัญหามลพิษโดยผลการวิจัยของโครงการจะถูกนำไปใช้ในการสร้างกลยุทธ์และนโยบายที่ตรงจุดเพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศในด้านต่างๆ ของประเทศไทย


การปฏิบัติภารกิจของ NASA ในครั้งนี้ เริ่มขึ้นแล้ว ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 มีนาคมนี้ เพื่อเก็บข้อมูลที่ได้จากการบินสำรวจ และข้อมูลภาคพื้นดิน มาประกอบการดำเนินงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในประเทศไทยต่อไป

คุณอาจสนใจ