เลือกตั้งและการเมือง
‘ภูมิธรรม’ ยันไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด – ‘ไพบูลย์’ เผย ‘บิ๊กป้อม’ สั่งยกเลิก MOU 44 ไม่เคยนำเข้าสภา ถือเป็นโมฆะ
โดย nattachat_c
8 พ.ย. 2567
66 views
วานนี้ (7 พ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ตนมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ชายแดน ที่ อ.เกาะกูด จ.ตราด ในวันที่ 9 พ.ย. มี 2 ประเด็นคือ
1.จะเดินทางไปไปยังหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ดูแลทุกข์สุขกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ที่อยู่เฝ้าชายแดนไทย -กัมพูชา บริเวณเกาะกูด
2.ไปเพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเราเป็นเจ้าของเกาะกูด ประเทศไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด และบนเกาะกูดเป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งมีหน่วยราชการและประชาชนอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจและมั่นใจขึ้น
ทั้งนี้ ตนจะเดินทางไปพร้อมกับปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการรมว.กลาโหม และเสนาธิการกองทัพเรือ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนมองความพยายามของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงข้อเท็จจริงครั้งนี้ จะช่วยลดความสับสนลงไปได้บ้าง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการกุข่าว เป็นการพูดที่เลื่อนลอย โดยไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง เกาะกูดเป็นของไทยมานานแล้ว ไม่เคยมีคำถาม คนไทยก็ใช้ชีวิตที่ตรงนั้นอย่างเต็มที่ หน่วยราชการไทยก็ตั้งอยู่ที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้ไม่เคยเป็นปัญหา เพียงแต่หยิบยกขึ้นมาเพื่อมาใช้สร้างประเด็นทางการเมือง
ซึ่งพอไล่ดูไปทั้งหมดมีความชัดเจน ก็จะเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด รัฐบาลต่างๆ ก็พยายามสนับสนุนให้มีเอ็มโอยู 44 ได้ดำเนินการต่อไป เพราะถือว่าเป็นกลไก และเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ที่สุด ในการที่เราจะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล
ไพบูลย์ เผย บิ๊กป้อม สั่ง พปชร. ยกเลิก MOU 44 แม้เคยเป็นประธานเจรจา เหตุไม่ทราบมีปัญหาข้อ กฎหมาย ยันเป็นแค่หนังสือสัญญา ไม่เคยนำเข้าสภาเห็นชอบ ถือเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หากเดินหน้าขัดรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ได้ให้นโยบายพรรคพลังประชารัฐ ดำเนินการยกเลิก MOU 2544 แม้พลเอกประวิตร เคยเป็นประธานคณะเจรจาฯตามกรอบ MOU2544 ก็ตาม
แต่ในขณะนั้นไม่ทราบมาก่อนว่า MOU 2544 จะมีปัญหาสำคัญทางกฏหมาย จนกระทั่งในเดือนมิถุนายนปีนี้ ตนได้บอกให้ทราบว่า ตนได้ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่ตรวจพบว่า MOU 2544 มีปัญหาสำคัญทางกฏหมายอย่างน้อย 2 ประการ
1. การที่ฝ่ายกัมพูชาได้ลากเส้นไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชาเริ่มจากหลักหมุดที่ 73 จุดแบ่งดินแดนทางบกของไทย-กัมพูชา ลากเส้นไหล่ทวีปตัดตรงมาทางทิศตะวันตกผ่านกลางเกาะกูดที่เป็นดินแดนของไทย ตัดเส้นตรงเลยเกาะกูดไปทางอ่าวไทยตอนใน การกระทำของฝ่ายกัมพูชาเป็นการลากเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฏหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากต่อลงมาทางทิศใต้ เป็นเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฏหมายทะเลระหว่างประเทศไปด้วย ทำให้กินพื้นที่อธิปไตยทางทะเลของไทยไป 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 16 ล้านไร่
แต่ MOU 2544 ไปรับรองเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาดังกล่าวเป็นเส้นถูกต้องที่นำใช้มาอ้างสิทธิกับไทยว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน เพื่อเจรจาแบ่งทรัพยากรทางทะเลของไทย ให้ประเทศกัมพูชาฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ ในงานเดินเนอร์ทอล์ค "ทักษิณ ชินวัตร โชว์วิชั่นเศรษฐกิจประเทศไทย" เมื่อวันที่22 สิงหาคม 2567 ข้อความว่า
อีกอันหนึ่ง ที่อดพูดไม่ได้ เรื่องของเขตทับซ้อนทางทะเล ความจริงเขตทับซ้อนทางทะเลนี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องเส้นเขตแดนหลักมันก็คือว่า ประเทศเราอยู่ตรงนี้มีไหล่ทวีปอยู่ตรงนี้ลากไป 200 ไมล์ทะเล อันนี้ตามหลักกฎหมายสากลประเทศเพื่อนบ้านสมมติกัมพูชาไหล่ทวีปอยู่ตรงนู้นลากมา200 ไมล์ทะเล เกยกันตรงไหนเราถือว่าเป็นเขต ทับซ้อน เขตทับซ้อนตรงนั้นถ้ามีทรัพยากรอยู่ ก็ถือว่าแบ่งคนละ 50
ดังนั้น หากรัฐบาลไปดำเนินเจรจาตาม MOU 2544 แบ่งผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติทางทะเลให้ฝ่ายกัมพูชา 50 เปอร์เซ็นต์ตามที่ นายทักษิณ ชี้แนะรัฐบาลไว้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดทั้งกฏหมายทะเลระหว่างประเทศและกฏหมายภายในประเทศ เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทย
2. ได้พบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า MOU.2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 คำวินิจฉัยที่ 33 /2543 และคำวินิจฉัยที่6-7/2551 เมื่อ MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา จึงต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 224,ปี 2550 มาตรา 190 และ ปี 2560 มาตรา 178 แต่ปรากฏว่า MOU 2544 ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันไม่มีการเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ MOU 2544 จึงเป็นหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย มีผลให้ MOU 2544 เป็นบทบัญญัติใด หรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา5 และมีผลให้ MOU 2544 ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก
และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง "ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา" (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 ดังนั้นเมื่อ MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ การที่รัฐบาลปัจจุบันหากนำ MOU 2544 ไปดำเนินการแบ่งทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลให้กับกัมพูชาต่อไป ในขณะนี้ทั้งที่รู้หรือควรรู้ ว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มีข้อควรระวังว่า อาจถูกฟ้องไปว่าเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า พลเอกประวิตร ได้กำชับกรรมการบริหารพรรค และ สส.พรรคทุกคนให้ร่วมแรงร่วมใจกัน ดำเนินนโยบายยกเลิก MOU 2544 ให้ได้ เพื่อปกป้องเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทยที่เป็นของไทยทั้งหมดตามกฏหมายทะเลระหว่างประเทศ
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/ZPF1c277JXs