เลือกตั้งและการเมือง

‘แพทองธาร’ ร่วมประชุมระดับผู้นำพรรค รัสเซีย-อาเซียน หวังส่งเสริมสันติภาพ ความมั่งคั่งในภูมิภาคร่วมกัน

โดย attayuth_b

23 ม.ค. 2567

43 views

วันนี้ (23 ม.ค.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับหัวหน้าพรรคการเมืองระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศอาเซียน: หัวข้อ“การจัดระเบียบโลกใหม่อย่างเที่ยงธรรม (A New Just World Order)” ทั้งนี้นายดมีตรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย และ หัวหน้าพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย ได้เป็นประธานในการจัดประชุมครั้งนี้ โดยมีผู้นำพรรคการเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา นายเลอ ฮอย ทรัง ประธานด้านต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประชาสัมพันธ์ศูนย์กลางกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายเดฟ ลักโซโน รองหัวหน้าพรรคโกลคา อินโดนีเชีย นายทองลุน สีสุลิด เลขาธิการใหญ่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว นายอับดุล ราห์มาน ดาลาน เลขาธิการพรรคอัมโน มาเลเซีย และ นายอู ขิ่นยี ประธานพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “ในอดีตระเบียบโลกมีวิวัฒนาการมาจากมหาอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ประเทศ โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของประเทศเล็กๆ มากนัก การประชุมในวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการหารือในการเพิ่มบทบาทของกลุ่มประเทศอาเซียนในเวทีโลกในการสะท้อนปัญหาและหาทางออกต่อปัญหาต่างๆเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาคร่วมกัน”




ทั้งนี้ในการประชุมวันนี้เหล่าผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนล้วนเห็นตรงกันว่าในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ และความท้าทายต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาวะโรคระบาด โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านพลังงาน และความเปลี่ยนแปลงอื่นอื่นๆ อีกมากมายต้องได้รับการใส่ใจและการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เหล่าผู้นำพรรคการเมืองล้วนเห็นพ้องกันว่าระเบียบโลกต้องปรับเปลี่ยนอย่างเที่ยงธรรมเพื่อให้คำนึงถึงผลระโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

น.ส.แพทองธาร ได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทางในการป้องกันภาวะวิกฤตทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ผ่านมาตรการและกลไกต่างๆในการช่วยเหลือและสนับสนุนตนเองระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น การจัดตั้งกองทุนสำรองระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อป้องกันสงครามสกุลเงินที่อาจเกิดขึ้น หรือการออกแบบมาตรการเช่น การริเริ่มตลาดตราสารหนี้แห่งเอเชีย ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางที่จะเพิ่มช่องทางการระดมทุน รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรับผิดชอบในการติดตาม คาดการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน หรือการให้คำแนะนำต่างๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นตัวอย่างของสำนักงานที่มีบทบาทในการป้องกันวิกฤติที่สำคัญมากจนถึงปัจจุบัน “นี่เป็นบางตัวอย่างของมาตรการที่เหล่าประเทศสามารถนำมาพิจารณาปรับใช้ในการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่เที่ยงธรรมและยุติธรรมมากขึ้น” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า ในอดีตประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันจัดตั้ง Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งเป็นการประชุมระดับทวีปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยมีประเทศสมาชิก ACD จำนวน 35 ประเทศ ACD ได้พัฒนาเป็นเวทีที่สำคัญสำหรับการเจรจาเพื่อแสวงหาวิธีการในการกำหนดรูปแบบระเบียบโลกใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมีการแลกเปลี่ยนและการพูดถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น องค์กร BRICS ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มประเทศ BRICS มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพที่จะเป็นองค์กรที่ร่วมกำหนดระเบียบโลกใหม่ให้เที่ยงธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ BRICS ในอนาคตเพื่อร่วมสนับสนุน สันติภาพ ความมั่งคั่ง และ การกำหนดกรอบกติกาโลกใหม่ที่เที่ยงธรรม และ ครอบคลุมยิ่งขึ้น




คุณอาจสนใจ

Related News