เลือกตั้งและการเมือง

รำลึก '50 ปี 14 ตุลา' ญาติวีรชน สะท้อนความหวัง คนรุ่นใหม่สืบสานการต่อสู้ เพื่อปชต.

โดย panwilai_c

14 ต.ค. 2566

58 views

กิจกรรมรำลึก 50 ปี 14 ตุลา วันนี้ มีญาติวีรชน ตัวแทนพรรคการเมือง เข้าร่วมงานจำนวนมาก นายชัยธวัช ตุลาธน ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่มาถึงวันนี้สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังเป็นปัญหา ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ระบุว่าการเสียสละของเหล่าวีรชน 14 ตุลาคือปฐมบทของระบอบประชาธิปไตย ของประชาชน



งานรำลึก 50 ปี 14 ตุลา ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ช่วงเช้าโดยมีการ ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน14 ตุลา และพิธีกรรมศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม, จากนั้นมีการตีกลองสะบัดชัย "ตุลาชัย-ตุลาธรรม" และวางพวงมาลา-กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยมี นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาให้การต้อนรับ



นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวสดุดีว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการชุมนุมครั้งแรกอย่างสันติของมวลชนจำนวนมหาศาล เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำประเทศไทยมาอย่างยาวนานเป็นผลสำเร็จ แม้ว่าหลังจากนั้น จะมีการรัฐประหารตามมาไม่น้อยกว่า 5 ครั้งก็ตาม แต่การเสียสละของเหล่าวีรชน 14 ตุลาคือปฐมบทของระบอบประชาธิปไตย ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนในประเทศไทย อันเป็นเจตนารมณ์ของประชาธปไตยอันแท้จริงของวีรชน 14 ตุลาอย่างมั่นคงถาวร พร้อมเชื่อมั่นว่าประชาชนชาวไทยจะได้ถอดบทเรียนของการพัฒนาประชาธิปไตยจากเจตนารมณ์ 14 ตุลา เพื่อสรรค์สร้างประชาธิปไตยให้มีคุณค่าและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง



นายชัยธวัช ตุลาธน เปิดเผยว่า มาร่วมงานในฐานะว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคก้าวไกลซึ่งที่ผ่านมาก็มาร่วมกิจกรรมตลอดอยู่แล้ว โดยได้มีการพูดคุยกับญาติวีรชน ซึ่งยังมีความหวังอยากให้คนรุ่นใหม่ สืบสานการต่อสู้ ของคนในเหตุการณ์ 14 ตุลา เพื่อให้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์



ส่วนที่ห้องประชุม 5-7 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานเสวนา"50 ปี 14 ตุลา’ เจ้าฝันถึงโลกสีใด" ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักศึกษาผู้ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา กล่าวช่วงหนึ่งในงานเสวนาว่า ครบรอบ 50 ปี สิ่งที่อยากฝากคือ มันไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานรำลึกไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่ต่างจากงานเช็งเม้ง กินข้าวกัน ไหว้กัน แล้วก็แยกย้าย ปัจจุบันมีประเพณีเอาพวงหรีดไปตั้ง แล้วก็ไม่เห็นสาระอย่างอื่น เราอยากเห็นการจัดงานที่มีสาระมากขึ้น อยากให้งานเหล่านี้เป็นสาระของการขับเคลื่อนในการสร้างประชาธิปไตยของสังคมไทย

คุณอาจสนใจ

Related News