เลือกตั้งและการเมือง

‘เพื่อไทย’ แจงเหตุปัดตก ร่างกม.ที่ดินฉบับ ‘ก้าวไกล’ ชี้ลดเวลายึดที่ดินรกร้าง จะก่อปัญหารุนแรง

โดย petchpawee_k

5 ก.ค. 2567

100 views

พรรคเพื่อไทยแจงเหตุปัดตกร่างกฎหมายที่ดินฉบับก้าวไกล ชี้การลดเวลายึดที่ดินรกร้างว่างเปล่า อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรง หลังสภาลงมติไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินคว่ำ ฉบับก้าวไกล 


เมื่อวันที่ 3 ก.ค.67  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ที่เสนอโดยนายอภิชาติ ศิริสุนทรกับคณะ จากพรรคก้าวไกล


โดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่…) พ.ศ. … อภิปรายสรุปร่างดังกล่าวว่า ตั้งแต่เขาได้รับเลือกเป็น สส. จนตอนนี้เข้าสู่สมัยที่ 2 ปีที่ 6  สมัยแรกที่เข้ามา  สมาชิกสภาฯ ทั้งหลายแทบทุกเดือนทุกสมัย ประชุม ล้วนแล้วแต่หารือเรื่องที่ดินทำกินที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ดินของตัวเองบ่อย จนคิดว่ามันเป็นปัญหาของประชาชนทั่วประเทศ แต่ไร้ทางออกเรื่องนี้


ตอนที่ตนทำงานใน กมธ.ที่ดิน ก็มีประชาชนเข้ามาร้องเรียนที่ กมธ. ปีละเป็นพันเรื่อง เราศึกษาข้อมูลว่าปัญหาต้นตอมาจากไหน เราเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ งั้นสรุปว่ามันเป็นปัญหาที่แนวคิด และกฎหมายใช่หรือไม่


สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ท่านสมาชิกสภาฯ ทราบว่าเป็นปัญหาที่กฎหมาย แต่ทำไมถึงมีเสียงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ท่านไร้ความรู้สึกต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน อันไหนที่เป็นข้อแก้ไข ก็ให้ไปถกเถียงแก้ไขในวาระที่สอง (ชั้น กมธ.) ท่านจะปิดประตูการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่พูดและบ่นทุกวันในสภาฯ แห่งนี้หรือ

"ผมยังไม่ได้ฟังเสียงและเหตุผลของท่าน ร่างฉบับนี้มันมีข้อบกพร่องตรงไหน ไม่ได้ยินเลย ทำไมท่านไม่บอกผมบ้าง ท่านทำไมไม่อภิปรายในสภาฯ แห่งนี้ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทราบ" อภิชาติ กล่าว


สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า เรื่องสิทธิชุมชน ที่ระบุในร่าง พ.ร.บ.ที่ดิน ดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงว่า ที่ดินจะตกอยู่ในมือของเอกชน แต่ที่ดินยังเป็นของรัฐ แต่ว่าให้ชุมชนบริหารจัดการ ที่ผ่านมารวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ประชาชนถูกดำเนินคดีกี่เรื่อง ก็เปิดรับให้มีการจัดการบริหารโดยท้องถิ่นและชุมชน  ซึ่งเขามองว่าเรื่องนี้จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐ และประชาชน และต่างประเทศก็บริหารแบบนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลประโยชน์ต่อรัฐอย่างมหาศาล


นายอภิชาติ ระบุว่า การปล่อยที่รกร้างว่างเปล่า ต่างประเทศเขาก็มีนโยบายการกระตุ้นให้ใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และมันไม่ดีตรงไหน สามารถพูดในชั้น กมธ. (วาระที่ 2) หลักการเขาทำทั่วโลกปล่อยไว้ 2 ปีเท่านั้น แต่ในร่างกฎหมาย  3-5 ปี แต่ถ้ามันน้อยไป  ก็สามารถไปแก้ไขชั้น กมธ.ได้


“มันไม่มีหรอก คนจนจะปล่อยพื้นที่รกร้างว่างเปล่า มีแต่คนรวยจะซื้อที่ดินไว้เก็งกำไร ไม่ได้เอามาทำการผลิต ท่านก็ต้องมาคุยในวาระที่ 2 ท่านบอกว่า 5 ปีมันน้อยหรือมากไป มันไม่พอดี ก็มาคุยกัน แต่ทั่วโลกเขาทำแบบนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดิน ผมยังไม่ได้เห็นคำอธิบายที่ไม่ชัดเจน”  


สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตนเสนอปลดล็อกการพิสูจน์สิทธิที่ดิน และการเปิดช่องการเพิ่มเรื่องของการออกโฉนดในกรณีที่ สปก. ที่ตรวจสอบสิทธิว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง สามารถยื่นขอออกโฉนด เพราะใน พ.ร.บ.เดิม  จะออกโฉนดให้เฉพาะ ที่ดิน สค.1 หรือมีหลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือที่ๆ เป็นนิคมสหกรณ์ที่ครองแล้ว 5 ปี ไม่ได้เขียนคำว่าที่ สปก.ออกโฉนดได้ เพื่อยกระดับความมั่นคงในที่ดินทำกินในที่ดิน สปก.  


นายอภิชาติ ระบุว่า เรื่องการพิสูจน์สิทธิ ประชาชนที่มีที่ดิน ส.ค.1 จะไปออกโฉนดทำยังไง เพราะเป็นที่ๆ มีความคาบเกี่ยวกับที่สาธารณะประโยชน์ ที่ดินของกรมป่าไม้ประเภทต่างๆ แต่กรมที่ดินออก สค.1 ให้แล้ว หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านมีวัด มีสถานีอนามัย มีโรงเรียน แล้วเกษตรกร คนชนบทอยู่ที่ไหนมักจะมีสวนมีนาอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติไปกับการตั้งถิ่นฐาน ดังนั้น กระบวนการในการพิสูจน์สิทธิที่เขียนไว้ในตัวกฎหมายเดิม ที่ให้ใช้เฉพาะระหว่างภาพถ่ายทางอากาศ หรือหลักฐานทางราชการอื่นๆ เช่น ส.ค.1 ซึ่งสมัยก่อนว่าการสื่อสารไม่ทั่วถึงแน่ การเดินทางจากหมู่บ้านเข้าอำเภอยากลำบาก รถสักคันก็ไม่มี หรือมี ก็มีเพียงเที่ยวเดียว หรือผู้ใหญ่บ้านไม่มีหอกระจายข่าว และประชาชนหากินทำไร่ตามนาตามป่าเขาไม่ได้มาประชุม หรือไม่ได้แจ้ง ส.ค.1 หรือแจ้งการครอบครอง ทำให้เขาหมดสิทธิที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะว่ารัฐไปเขียนข้อจำกัดในการพิสูจน์สิทธิไว้


ร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอจะนำมาสู่การปลดล็อกการพิสูจน์สิทธิเหล่านั้นง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ใช้หลักฐานอื่นๆ ร่องรอยการทำประโยชน์ ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการพิสูจน์มากขึ้น


"ถ้าสมาชิกเห็นเหมือนกับผมว่า ปัญหาเรื่องที่ดินตอนนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายที่ดินตรงนี้ ถ้าเห็นตรงกัน รับหลักการไปหน่อย อย่างน้อยเห็นแก่ประชาชน อย่างน้อยได้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรสมตามที่ประชาชนได้มอบอำนาจให้ อันไหนที่ขาดตกบกพร่องก็ไปคุยในรายละเอียด สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ผมจึงขอร้องให้เพื่อนถ้าตัดสินใจไม่ได้วันนี้ เลื่อนออกไปก็ยังได้ ลงมติอาทิตย์หน้า และก็หารือกันใหม่ หรือจะให้ทำยังไง ผมยอมแล้ว กับหลักการแก้ไขปัญหาที่ดินให้ประชาชน" อภิชาติ กล่าว


แต่หลังจากอภิปรายสรุปร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลที่ดินแล้ว นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้ให้สมาชิกสภาฯ ลงมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่างดังกล่าว โดยผลปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนเสียง 397 คน โดยมีผู้เห็นชอบ จำนวน 144 ราย และไม่เห็นชอบ 256 ราย ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตกในชั้นวาระที่ 1 (ข้อมูลประชาไท)

ในขณะที่เพจพรรคก้าวไกล ระบุว่า สาระสำคัญของกฎหมาย เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ดินปัจจุบัน ไม่ได้รับรองสิทธิชุมชนในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ทำให้ชุมชนที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกันขาดความชอบธรรม   กระบวนการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเงื่อนเวลาของการทอดทิ้งหรือไม่ทำประโยชน์ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นการสละสิทธิในที่ดินโดยเจตนา ปัจจุบันเงื่อนเวลาดังกล่าวค่อนข้างยาวนาน   รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางในการดำเนินการเพื่อให้ที่ดินที่ถูกทิ้งร้างตกเป็นของรัฐ และการจำกัดหลักฐานที่สามารถนำไปใช้ในการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อคาบเกี่ยว หรืออยู่ในเขตที่ดินของรัฐ


พรรคก้าวไกล จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหา คือ

(1) เพิ่มนิยาม “สิทธิชุมชน” : กำหนดให้ชุมชนเป็นผู้ทรงสิทธิในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาต และมีสิทธิในการดูแล รักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และในการเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ร่วมกันตามวิถีชีวิตของชุมชน

(2) เพิ่มประสิทธิภาพในการนำที่ดินรกร้างมาเป็นของรัฐ : ลดเงื่อนเวลาของการทอดทิ้งหรือไม่ทำประโยชน์ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ให้สั้นลง และกำหนดให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นในการดำเนินการตรวจสอบที่ดินและยื่นคำร้องต่อศาล

(3) เพิ่มความเป็นธรรมในการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน โดย

- กำหนดให้ใช้หลักฐานอื่นได้ (นอกจากระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหรือระวางรูปถ่ายทางอากาศ) ในการพิสูจน์ว่ามีการครองครองทำประโยชน์จริงในพื้นที่

- กำหนดกรอบเวลาให้กรมที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้ดำเนินการโดยมิชอบ

- เปิดช่องสำหรับการออกโฉนด สำหรับผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมาย ส.ป.ก. ที่ได้รับการพิสูจน์สิทธิเรียบร้อยแล้ว

- ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการสอบสวนการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

-------------------------

ขณะที่ เพจพรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความที่นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์บน X ถึงร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่… พ.ศ. … โดยมีข้อความระบุว่า


“ชุมชน” ควรมีสิทธิในการ “ถือครอง” ที่ดินหรือไม่? การถือครองแตกต่างจากการ “ครอบครอง” หรือ “กรรมสิทธิ์” ตาม ป. ที่ดินฯ อย่างไร? Land Code need to be amended to better serve the people. ประมวลกฎหมายที่ดินปัจจุบันมีปัญหาทำให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทำได้ยาก  สมควรแก้ไขโดยด่วนครับ

แต่การกำหนดให้ชุมชนมีสิทธิ “ถือครอง” ที่ดินได้ โดยไม่บัญญัติให้ชัดเจนว่า ชุมชนคืออะไร ? มีองค์ประกอบอย่างไร?  ต้องมีกี่คนขึ้นไป? ใน 1 ตำบลมีได้กี่ชุมชน? หมู่บ้านถือเป็นชุมชนหรือไม่? ชุมชนมีกี่ประเภท?  เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ? ใครคือผู้แทนชุมชน ? ชุมชนบริหารงานอย่างไร  ใช้เสียงข้างมากในระบบคณะกรรมการ หรือ ใช้การเลือกตั้งผู้นำชุมชน หรือ จะใช้ระบบทำนองเดียวกับสหกรณ์ หรือใช้ระบบ Trust ฯลฯ


การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชุมชน?  ในบริเวณเดียวกัน หากมีหลายชุมชน ชุมชนใดควรจะเป็นผู้มีสิทธิในการถือครองที่ดิน? เมื่อได้ประโยชน์จากการถือครองที่ดินจะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไรในชุมชน ใครควรจะได้รับประโยชน์บ้าง ในสัดส่วนเท่าใด?

ผลประโยชน์ของรัฐ และชุมชน? ชุมชน โอนสิทธิการ “ถือครอง” ที่ดินได้หรือไม่? ต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติครับ จึงต้องคิดให้ตกผลึกก่อนจึงจะดำเนินการครับ นอกจากนี้ “สิทธิชุมชน” หรือ “คำนิยามชุมชน” หากจะกำหนดขึ้นควรตราเป็น พ.ร.บ. โดยเฉพาะ หรือกำหนดไว้ในกฎหมายทั่วไป มากกว่าประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ดินโดยเฉพาะครับ”


นอกจากนี้เพจพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน  ที่ได้กล่าวถึงประเด็นการยึดที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าด้วยว่า  “ประเด็นการยึดที่ดิน ที่รกร้างว่างเปล่า ที่กำหนดให้ระยะเวลาสั้นลงจาก 10 ปี เป็น 5 ปี จะก่อให้เกิดปัญหารุนแรง เป็นสิ่งที่ต้องฝากให้สภาพิจารณารอบคอบ”  


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/9LmuNpmWhzw

คุณอาจสนใจ

Related News