สังคม

สธ.เผยฮีทสโตรก คร่าแล้ว 38 คนไทย เตือนยาบางชนิด ส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย

โดย thichaphat_d

4 พ.ค. 2567

166 views

เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (3 พ.ค.) ตำรวจ สภ.กบินทร์บุรี รับแจ้งมีพระสงฆ์มรณภาพภายในกุฎิวัดรัตนโชติการาม (เพชรเอิม) ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่เกิดเหตุบริเวณชั้น 2 ภายในกุฏิของวัดดังกล่าวพบพระสงฆ์นอนมรณภาพสภาพเปลือยกาย พัดลมภายในกุฏิยังเปิดอยู่จำนวน 2 ตัว หน้าต่างทุกบานปิด ยิ่งทำให้ความร้อนสะสมอบอ้าวเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางอากาศอุณหภูมิ สูง 42 องศา ตรวจสอบไม่มีร่องรอยของการถูกทำร้ายแต่อย่างใด ทรัพย์สินเงินสดจำนวนหนึ่งยังอยู่ครบ ทราบชื่อคือพระอุกฤษฏ์ จุลวัฒนานนท์ อายุ 78 ปี เป็นพระลูกวัด

จากการสอบถามพระวิฑูรย์ พระลูกวัดที่มาพบศพ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าก็ยังมาเรียกท่านๆ ก็ยังตอบรับ และมาช่วงเย็น เวลาประมาณ 17.20 น. ก็นำน้ำส้มมาถวายท่านและเรียกท่านไม่มีเสียงตอนรับ จึงเปิดห้องเข้าไปดูเรียกท่านแต่ก็ไม่มีการตอบรับ จึงรู้ว่าท่านมรณภาพแล้ว คาดว่าเกิดจากความร้อนหรือฮีทสโตรก ประกอบมีโรคประจำตัวเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากร่างกายทำให้มรณภาพดังกล่าว

---------------------------------

กรมอนามัย เผยปีนี้พบเสียชีวิตจากความร้อนแล้วกว่า 38 ราย อีสานยอดสูงสุด

วานนี้ (3 พ.ค.) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า

ในปี 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากความร้อนแล้วกว่า 38 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และดื่มสุราเป็นประจำ

ประชาชนควรปฏิบัติตน เพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากอากาศร้อนในช่วงนี้ ดังนี้

1.ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ ค่าดัชนีความร้อน และพิจารณาเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย

2.ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ และสังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำทันที

3.แม่ที่ให้นมลูกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 2 ลิตร หรือ 8-10 แก้วขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และช่วยป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ

4.งดดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ชาเขียว น้ำอัดลม

5.สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

6.ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตและจิตเวช เป็นต้น อาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ที่รับประทานยาดังกล่าวจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์

7.ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร แรงงานก่อสร้าง หรือออกกำลังกาย ควรทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อสังเกตอาการและช่วยเหลือได้ทันหากมีอาการ

8.ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด และสังเกตอาการผิดปกติเป็นพิเศษ หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผิวหนังร้อนแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นลม หมดสติ ให้รีบปฐมพยาบาล โดยผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว และนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร.1669

ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์ความร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่า ค่าดัชนีความร้อนจะมีแนวโน้มลดลง แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคมนี้ คาดการณ์ว่าอาจจะมีบางพื้นที่มีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายมากใน 12 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ภูเก็ต กระบี่ ตราด ชลบุรี ปัตตานี สุราษฎร์ธานี พังงา ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จึงขอให้ประชาชน สังเกตอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนได้



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/b9-Rja-xpkc

คุณอาจสนใจ

Related News