เศรษฐกิจ

'ภูมิธรรม' เร่งกระตุ้น GDP หวังดึงทัพนักธุรกิจจีนลงทุนในไทย หนุนใช้ประโยชน์ RCEP

โดย chawalwit_m

27 พ.ค. 2567

53 views

วันที่ 27 พ.ค. 67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม RCEP Business Opportunities Matchmaking (จีน-ไทย) เพื่อเชิญชวนนักธุรกิจที่มีศักยภาพจีนกว่า 140 ราย ใน 10 สาขาเศรษฐกิจ จาก 60 สมาคมมาลงทุนในไทย ใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ GDP ประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกภาคเอกชน


โดย นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในปี 2568 จะครบรอบ 50 ปี หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าสูงถึง 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย เติบโตอย่างต่อเนื่องจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจีนเป็นหัวหอกขับเคลื่อนที่สำคัญและ RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไทย-จีน ยังเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่อยู่ระหว่างการยกระดับให้ทันสมัย


ซึ่งก็คาดหวังว่าไทย-จีน จะขยายโอกาสทางการค้า ทั้งสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความตกลง RCEP อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ขยายเครือข่ายภาคการผลิต และกระจายสินค้าในภูมิภาค เชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก ผ่านการใช้สิทธิพิเศษผ่านข้อตกลงดังกล่าว



พร้อมทั้งระบุว่า ได้มีการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนจีนใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ซึ่งจะนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้า และ GDP ของภูมิภาค RCEP ให้เติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการตั้งฐานการผลิตในไทย ในสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-Curve ที่เป็นเป้าหมายในการต่อยอดอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต



ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์สร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างเอกชนสองฝ่าย โดยทำงานลงลึกในพื้นที่เป็นรายภูมิภาค/มณฑล ที่ผ่านมาได้ MOU กับรัฐบาลท้องถิ่นจีนแล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ มณฑลไห่หนาน, มณฑลกานซู, มณฑลเซินเจิ้ล และมณฑลยูนนาน และมีแผนที่จะจัดทำเพิ่มอีก 8 ฉบับ ได้แก่ ฝูเจี้ยน, เฮยหลงเจียงล ซานซี, เจ้อเจียง, เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง, เหอเป่ยล ซานตง และจี๋หลิน จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะ SME เพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนระหว่างกัน



ซึ่งไทยสามารถเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง กระจายสินค้าได้ทั่วโลก มีความพร้อมทั้งโลจิสติกส์ แรงงาน บริการ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคน แก้ไขปรับกฎระเบียบส่งเสริมเอกชน และทุกหน่วยงานพร้อมเอื้อการลงทุนให้สะดวก และได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI, EEC และ Free Visa และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน



อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดในปี 2566 พบว่า ปริมาณการค้ารวมของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่ารวมถึง 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 54.41% ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่ากว่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA แล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งรวมความตกลง RCEP โดยอยู่ระหว่างการพิจารณากระบวนการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งขณะนี้ มีประเทศ/เขตศุลกากรอิสระ แสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงฯ ได้แก่ ฮ่องกง และศรีลังกา และอยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงานความตกลง RCEP (RCEP Supporting Unit: RSU) โดยมีเป้าหมายให้เริ่มปฏิบัติงานได้ภายในภายในปีนี้


ในขณะเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า ไตรมาส4 ปี 66 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% แต่ชะลอลงจาก 3.4% ของไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 91% โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก โดยขยายตัว 3.5% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.9% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อยานยนต์หดตัว



สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต สศช.ได้ออกโรงเตือนให้ระมัดระวังมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา มองว่าเป็นเรื่องของทั้งระบบนิเวศเศรษฐกิจ หรือ อีโคซิสเต็ม ที่ต้องช่วยกันแก้ ทั้งผู้ประกอบการ ห้างร้าน ไม่เช่นนั้นจะดันให้หนี้ครัวเรือนพุ่ง โดยตั้งข้อสังเกตว่าราคาสินค้าเพียงแค่หลัก 2-3 พันบาท ก็ให้ผ่อนผ่านบัตรเครดิตได้แล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ควร เพราะยิ่งส่งเสริมให้คนเป็นหนี้โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” โดยลืมพิจารณาว่ารายได้สุทธิไม่เพียงพอ และเมื่อซื้อสินค้าด้วยระบบเงินผ่อนหลายชนิด ในที่สุดก็ไปกระทบการก่อหนี้รูปแบบอื่น กลายเป็นวงจรอุบาทว์



ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท โดยหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน ซึ่งประเด็นที่ควรให้ความสำคัญได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนี้ของครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง



จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 4 ปี 66 พบว่ายอดคงค้างหนี้เสียของสินเชื่อบ้านขยายตัวเร่งขึ้นถึง 7% จากไตรมาสที่ผ่านมาหดตัว 1.7% หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.6% ของสินเชื่อรวม โดยเกือบ3 ใน 4 หรือ 73.4% เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.5% สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินสินเชื่อบ้านในระดับอื่น รวมถึงหนี้สินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ยังมีสัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยไตรมาส 4 ปี 66 มีสัดส่วนอยู่ที่ 4.4%



โดยอาจต้องเฝ้าระวังและเร่งปรับปรุงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย รวมถึงการเร่งรัดสถาบันการเงินประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567



มองว่าสถาบันการเงินต้องแก้ปัญหาดูเป็นรายๆไป ที่สำคัญคือต้องพยายามทำให้คนยังคงมีบ้านอยู่ได้เพราะหากเสียบ้านไป นั่นหมายถึงความมั่นคงในชีวิตสูญไปและจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง โดยมองว่าสถาบันการเงินควรพิจารณาการปรับโครงสร้างสัดส่วนการชำระเงินงวดโดยให้หักเงินต้นมากขึ้นจากปัจจุบันที่เสียไปกับดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถาบันการเงินด้วย



ขณะที่สถานการณ์แรงงานไตรมาส 1 ปี 67 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.1% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูกาลทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5% ** การว่างงานทรงตัวอยู่ที่ 1.01% หรือมีผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน แต่พบว่ามีผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 11.6% โดยอยู่ที่ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ 2 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากแรงงานภาคการเกษตรที่หมดฤดูกาลเพาะปลูกนั่นเอง

คุณอาจสนใจ

Related News