ข่าวโซเชียล

สาวผูกบัญชีกับแอป Shopee ถูกหักเงินหายเกือบ 5 หมื่น แจ้งธนาคารแต่ทำอะไรไม่ได้ ชี้เอาบัญชีไปผูกไว้เอง

โดย thichaphat_d

5 ธ.ค. 2565

6.7K views

สาวผูกบัญชีธนาคารกับแอปช้อปปิ้งดัง ถูกหักเงินเกือบครึ่งแสน ยันไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ซัดแอปดัง โปรโมทให้คนผูกบัญชีแต่ไม่ปลอดภัย คนโดนเยอะไม่มีใครได้คืนสักคน เจ้าตัวโทรถามธนาคารฯ สุดช้ำได้คำตอบว่าเอาบัญชีไปผูกไว้เอง ธนาคารทำอะไรไม่ได้


ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Gift Sichol ได้โพสต์ภาพยอดเงินของตัวเองถูกหักออกจากบัญชีธนาคาร หลังผูกบัญชีธนาคารไว้แอป Shopee โดยผู้โพสต์ซึ่งเป็นผู้เสียหายระบุว่า “เตือนภัยทุกคนที่ผูกบัญชีกับแอป Shopee ใครเสียหายทัก Inbox มาเลยมากน้อยไม่เป็นไรตอนนี้ต้องการจำนวนคนเพื่อร้องเรียน เพิ่งโดนกับตัววันนี้เลย”

ผู้โพสต์เปิดเผยว่า ตนเองผูกบัญชีธนาคารไทยพาณิชณ์ไว้กับ Shopee แค่ผูกไว้เฉย ๆ ไม่ได้มีการโอนเงินเข้าไป เปิดบัญชีมาเหลือเงินอยู่แค่ 400 กว่าบาท จาก 5 หมื่นกว่าบาท เกือบหมดบัญชี จากนั้นตนเองรีบกลับไปดู e-Satement พบว่าเงินโดนโอนไปยัง sips shopeepay (thailand) co.ltd จำนวน 9 ครั้ง รวม 49,396 บาท  ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 เงินโอนออกถี่ ๆ ภายในไม่กี่นาที

ครั้งที่ 1 จำนวน 6,900 บาท

ครั้งที่ 2  จำนวน 10,100 บาท

ครั้งที่ 3 จำนวน 7,000 บาท

ครั้งที่ 4 จำนวน 5,320 บาท

ครั้งที่ 5 จำนวน 9,350 บาท

ครั้งที่ 6 จำนวน 1,870 บาท

ครั้งที่ 7 จำนวน 3,690 บาท

ครั้งที่ 8  จำนวน 3,690 บาท

ครั้งที่ 9 จำนวน 1,476 บาท  

จึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.บางยี่เรื่อ เพื่อเป็นหลักฐาน

ทั้งนี้ตนเองยืนยันไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมดังกล่าว และไม่มีการแจ้งเตือนโอทีพีใด ๆ ตรวจสอบแล้วไม่มีเงินเข้ามาใน Shopee wallet ของตน และไม่มีประวัติการซื้อสินค้าผ่านทางบัญชี Shopee ของตนด้วยยอดเงินดังกล่าว จากนั้นตนได้โทรสอบถามไปยังธนาคารฯ ตอบกลับมาว่า เราเอาบัญชีไปผูกไว้กับทาง Shopee เอง  จึงทำอะไรไม่ได้ ธนาคารแค่อนุมัติการจ่ายเงินเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ verify อนุมัติได้ไงก็ไม่ทราบ ซึ่งธนาคารไม่ได้ช่วยตรวจสอบอะไรให้

ตอนนี้ตามเรื่องกับทาง Shopee อยู่ยังไม่ได้เงินคืน แจ้งความลงบันทึกประจำวันไปแล้ว ผู้โพสต์ระบุว่า เป็นปกติที่ใคร ๆ ก็ผูกบัญชีหรือเปล่า ทางแอปเองโปรโมทให้คนผูกบัญชี แต่ทั้งธนาคารและช้อปปี้ไม่ปลอดภัย ขนาดว่าเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ ก็หายไปได้เฉย ๆ แบบนี้หรอ รู้สึกแย่ แล้วต้องเอาเงินไว้ที่ไหนถึงขจะปลอดภัย รบกวนช่วยแชร์หน่อยกลัวช้อปปี้เงียบมากเลย เพราะลองเสิร์ชคนโดนเยอะมาก

ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ของ Shopee ได้ติดต่อมาหาตนแจ้งว่า ได้ทำการตรวจสอบคาดว่าบัญชี Shopee ของตนถูกแฮกและมีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ พอมีเขากดซื้อสิ้นค้า เลขโอทีพี ก็จะไป verify ที่เบอร์โทรศัพท์ของเขา ซึ่งทาง Shopee บอกให้ตนส่งเอกสารหลักฐานว่ามีการโอนเงินออกไปกี่ครั้ง และให้แจ้งความดำเนินคดีและให้ส่งเอกสารแจ้งความไปยังทนายของ Shopee  

ทั้งนี้หลังจากที่ตนโพสต์เรื่องนี้ไป มีผู้ทักแชตเฟซบุ๊กมาสอบถามเพราะเคยเจอเหตุการณ์เดียวกัน หลายคนแจ้งไปยัง Shopee ซึ่งก็ตอบแบบเดียวกัน ทุกเคสที่ทักมาหาตนจนทุกวันนี้ไม่มีใครได้เงินคืนสักคน แม้จะยื่นเรื่องไปตามกระบวนการแล้วก็ตาม  กรณีของตนทาง Shopee ไม่สามารถตอบได้ว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ แจ้งเพียงว่าให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย

อย่างไรก็ตามหลังเธอได้โพสต์เรื่องราวนี้ มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากที่เคยโดนลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sappapon Nicky Pupattananurak ระบุว่า โดนมาแล้ว 1,350 บาท Shopee ให้ไปแจ้งความเอง พอไปแจ้งความเสร็จมีใบแจ้งความส่งไปให้ Shopee ทาง Shopee บอกว่าต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อไปหา Shopee เอง

พอตนไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางตำรวจบอกว่าเขาไม่ได้มีหน้าที่ต้องตามเรื่องให้ ทาง Shopee ต้องเป็นผู้ตามเรื่องและชดใช้ความเสียหายให้กับลูกค้า สรุปคือโยนกันไปมาแล้ว Shopee ก็ไม่คืนเงิน ตนจึงเลิกใช้ shopeePay เลย

บางคนบอกว่าทางธนาคารไม่น่าผิด เพราะไปกดยอมรับเงื่อนไขการผูกบัญชีธนาคารกับทาง Shopee เอง น่าจะไปจี้ตามเรื่องกับทาง Shopee มากกว่า

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีการผูกบัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้ากับแอปพลิเคชันต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงการให้หักเงินในบัญชีธนาคารอัตโนมัติ ใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง หรือชำระสินค้าผ่าน QR code แทน

2.บัญชีธนาคารที่ผูก หรือเชื่อมไว้กับแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีจำนวนเงินในบัญชีไม่มาก  

3.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก นอกเหนือจาก AppStore หรือ Playstore

4.ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการบัญชีธนาคารผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line)

5.หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)

6.ระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเอง

7.ควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) หรือจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน

8.หากพบสิ่งผิดปกติของบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ให้ทำการแจ้งไปยังธนาคาร เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์


ทั้งนี้หากได้รับความเสียหายให้ทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมาย หรือพบเบาะแสการกระทำผิด  ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/lLuzU67co4A

คุณอาจสนใจ

Related News