สังคม

ทีมช่วยช้าง เล่าความยากในการช่วยเหลือ เหตุเลี้ยงแบบสวนสัตว์ ไม่สามารถหนีออกจากคอก-กรงได้

โดย weerawit_c

10 ชั่วโมงที่แล้ว

7.7K views

วานนี้ (5 ต.ค.) คุณนารากร ติยายน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ขอพูดความในใจนะคะ  มีการถกเถียงกันเยอะ เรื่องการเลี้ยงช้างแบบล่ามโซ่ ใช้ตะขอ หรือ ไม่ล่ามโซ่ ไม่ใช้ตะขอ แต่ขังคอก แบบไหนเป็นการเลี้ยงช้างที่ถูกต้อง


เข้าใจว่าแต่เดิมช้างบ้านก็มาจากป่าที่จับมาฝึกเพื่อใช้งาน จึงต้องมีการใช้โซ่เพื่อจำกัดให้ช้างอยู่ในบริเวณ และใช้ตะขอเพื่อควบคุมช้างให้ทำตามคำสั่งของควาญ วิธีการเลี้ยงช้างแบบนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดส่งต่อกันมา เป็นภูมิปัญญาของคนเลี้ยงช้าง


ช้างที่ ENP ส่วนใหญ่เป็นช้างแก่ ช้างพิการ ตาบอด ช้างที่เคยถูกทารุณกรรมมาก่อน จึงไม่มีการล่ามโซ่ แต่ละตัวจะอยู่ในคอก ในโรงนอนที่มีรั้วรอบ มีประตูกั้นให้เดินเข้าออกได้ แต่น้ำท่วมคราวนี้สูงกว่า 3 เมตร น้ำมิดหลังคาโรงนอน เป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และยากจะควบคุมได้


ส่วนช้างตัวผู้ ที่ ENP เลี้ยงไว้ในคอกอีกแห่งหนึ่ง จุดนี้ยอมรับว่ามีปัญหา เพราะช้างตัวผู้เป็นช้างดุ และควบคุมยาก เมื่อไม่เคยถูกฝึกให้อยู่ในโซ่ หรือใช้ตะขอควบคุม ก็อาจจะทำให้การเคลื่อนย้ายลำบาก และมีความเสี่ยงที่ช้างจะเตลิดหนีการควบคุม


เราไม่อาจตัดสินได้ว่าแบบไหนถูกต้อง อยู่ที่แนวทางของแต่ละปางช้าง แต่เรายอมรับกันหรือไม่ว่าพิบัติภัยครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากวิธีการเลี้ยงช้าง แต่คือผลจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่สร้างปัญหาฝุ่นควันพิษ pm 2.5 ให้แก่ภาคเหนือแทบทุกปี


ขณะที่โพสต์ดังกล่าวนายสัตวแพทย์เผด็จ ศิริดำรง สัตวแพทย์ประจำสวนนงนุช เข้ามาคอมเม้นท์ว่า "ที่เป็นประเด็น ต้องย้อนมองดูในอดีตเมื่อหลายปี ช่วงก่อนโควิด มีการชูประเด็นเลี้ยงช้างแบบไม่ใช้โซ่ ไม่ใช้ขอ จากกลุ่มเลี้ยงช้างแบบนี้ และมาออกข่าวโจมตี ดิสเครดิตปางช้างส่วนใหญ่ ที่มีประเพณี วัฒนธรรมเลี้ยงช้างแบบดั้งเดิม แล้วดึงองค์กรต่างชาติ เข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ จนถึงขั้น เริ่มมีเสียงจากทางต่างชาติฝั่งยุโรป อเมริกา เริ่มบีบให้ทางไทย ยอมรับกฎที่ต่างชาติอยากกำหนดเป็นข้อบังคับให้ไทยทำตาม ไม่เช่นนั้น อาจมีการบอยคอต เรื่องการท่องเที่ยวในไทย ยังดี ที่กฎหมายทำเสร็จได้ ก่อนที่จะมีการรับข้อเสนอของต่างชาติมาใช้


ผมได้รับเลือกเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ร่างกฎหมายมาตรฐานปางช้าง จัดทำร่างมาตรฐานวิชาชีพควาญช้าง และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสวัสดิภาพช้าง ในช่วงโควิดระบาด ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี กว่าร่างกฎหมายจะเสร็จออกมาประกาศใช้ในราชกิจจาฯ โดยที่ก็ไม่มีใครต่อต้านการเลี้ยงช้างแบบนี้ แต่จะทำได้มันต้องมีบริบทเฉพาะพิเศษ เช่นช้างที่เลี้ยงได้ ต้องไม่เป็นช้างที่มีอันตราย เช่นช้างเด็ก ช้างชรา ช้างที่เชื่องมากๆ เป็นต้น  เพราะในมาตรฐานปางช้าง ก็แยกประเภทปางช้างอยู่แล้ว เช่นปางช้างแสดงโชว์ ปางช้างขี่ท่องเที่ยว ปางช้างเลี้ยงกึ่งอิสระ  ปางช้างแบบผสมผสาน เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยึดหลักสวัสดิภาพช้าง สวัสดิภาพนักท่องเที่ยว และสวัสดิภาพควาญช้างหรือคนที่ทำงานร่วมกับช้างเป็นสำคัญ จะมีก็แต่องค์กรต่างชาติ ที่อยู่ในไทย และกลุ่มแซงจัวรี่ ที่ยังคงแซะปางช้างที่ยังคงเลี้ยงช้างแบบใช้โซ่ใช้ขอ อยู่เป็นระยะๆ ว่าทำทารุณกรรมต่อช้าง


ในกรณีที่ยังคงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์โซ่ ขอ หอก ควาญ ก็เพราะเวลาที่ช้างป่วย ช้างดุ ช้างตื่นตกใจ ช้างตกมันหลุดโซ่ หรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องควบคุมบังคับช้าง เหล่านี้ จำเป็นต้องยังใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เท่าที่จำเป็น เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อคนและช้าง


เวลานี้ คงเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าควาญที่ใช้ขอ ใช้โซ่ ต่างก็ระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยปางช้าง ที่ในอดีตเคยแซะเค้า เพราะเค้าต่างก็รักช้างครับ"


ด้าน นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ซึ่งเป็น 1 ในทีมที่เข้าไปช่วยเหลือช้างที่ติดอยู่ที่ปางช้างปางช้าง แสงเดือน ชัยเลิศ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ว่า ขณะที่ทีมงาน จิตอาสา อาสมัคร เข้าไปช่วยช้างที่ติดอยู่ในปางช้างแห่งนี้ ทั้งนี้ ก่อนอื่นต้องทราบว่า จ.เชียงใหม่ มีปางช้างทั้งหมด 85 ปาง มีช้างทั้งหมด 950 เชือก ปางช้างทุกที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทั้งหมด ทุกปาง สามารถเคลื่อนย้ายช้างออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้หมด ไม่มีช้างปางไหนล้มตายเลย นอกจากช้าง ของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ ซึ่ง ณ เบื้องต้นตอนนี้พบว่ามีช้างล้ม 2 เชือก


เกือบตลอดทั้งคืนวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร เข้าไปช่วยนั้น น้ำท่วมสูงมาก สูงขนาดที่ช้างยืนเท้าไม่ติดพื้นดิน ต้องลอยตัวในน้ำ สิ่งที่เราเจอก็คือ พบว่าช้างอยู่ในคอกที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ โดยคอกหรือกรงนั้นใส่กุญแจล็อกเอาไว้อย่างมิดชิด เจ้าหน้าที่พยายามดำน้ำลงไปเพื่อเปิดล็อกนั้น แต่เปิดไม่ได้ ช้างที่ออกมาได้บางเชือกนั้นคือ ตะกายออกมา เพราะตัวลอยสามารถข้ามที่กั้นคอกออกมาได้ แต่พอน้ำลด เท้าเหยียบถึงพื้นไม่สามารถออกมาได้แล้ว เพราะตัวลอยไม่ได้ กระทั่งน้ำลดบางตัวก็ยังอยู่ในคอกเหมือนเดิม


โดยปกติแล้ว ช้างจะมีสัญชาตญาณในการรับรู้เรื่องภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิได้ดีมาก จะสามารถหลบหนีได้ตามสถานการณ์ แต่ที่หนีไม่ได้เพราะไม่สามารถออกมาจากคอกหรือกรงได้ ซึ่งปางช้างส่วนใหญ่จะใช้วิธีเลี้ยงโดยใช้ความผูกพันระหว่างควาญกับช้าง ที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน กลางคืนก็ใช้วิธีล่ามโซ่เอาไว้ จะพาไปเดิน ไปอาบน้ำก็เอาโซ่ออกแล้วเดินอย่างอิสระ แต่ถ้าเลี้ยงแบบสวนสัตว์ คือ ให้ช้างอยู่ในคอก คนกับช้างไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นความยากลำบากในการเข้าไปช่วยเพราะช้างไม่คุ้นกับคน ไม่ยอมให้คนเข้าใกล้


ทั้งนี้ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ มีความเสียหายเกิดขึ้น ตนมองว่า ผู้ที่เสียหายนั้นไม่ใช่เจ้าของปางช้าง แต่เป็นตัวช้าง และผู้ที่ควรจะได้รับการพูดถึงและชื่นชมในกรณีนี้คือ ปางช้างอื่นๆ ที่พวกเขาสามารถพาช้างของตัวเองให้รอดพ้นได้ ในขณะที่ปางแห่งนี้กลับมีช้างที่ติดอยู่ แม้จะรอดชีวิตมาได้แต่ก็ถือว่าได้รับความทุกข์ทรมาน ซึ่งหน่วยงานราชการหรือผู้เกี่ยวข้องต้องมีการสอบสวนว่า เรื่องการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ แบบนี้เป็นการทารุณสัตว์หรือไม่ด้วย


นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โพสต์ “ทุกคนที่เขาเข้าไปช่วย ..เขาทำเต็มกำลัง ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของปางเอกชนด้วยซํ้า เพราะสงสารสัตว์..ทางคุณหมอคชบาล มช. ไปเต็มทีม ซึ่งดิฉันแทบไม่เคยเห็นการรวมพลังเต็มที่แบบนี้ ..


ทหาร กู้ภัยมาจากทุกสารทิศ..ควาญเก่งๆ ของปางอื่นเข้าไปช่วยเต็มที่ ..ทุกคนวางความคิดส่วนตัว มุ่งช่วยสัตว์…ถ้าไม่มีคนนอกเหล่านี้เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วย ช้างจะล้มมากกว่านี้..แต่เมื่อฟังการให้สัมภาษณ์หลายสื่อเมื่อวานนี้…ยอมรับว่า..อึ้ง…ที่ทุกฝ่ายพยายามพูดให้เข้าใจคือ ระบบการเลี้ยงที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องโซ่ค่ะ…ระบบที่ต้องมีควาญเข้าถึงได้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ..


แม้เรื่องมากมายที่ดิฉันอยากพูด แต่ก็คงจบแล้ว…ขอให้สัตว์ที่ต้องเสียชีวิตครั้งนี้สู่ภพภูมิที่ดีนะคะ…และดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าไปช่วยเหลือสัตว์ค่ะ เหนื่อยกันมาก…เขาไม่ขอบคุณ..แต่ดิฉันขอบคุณ..”ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.67 นางสาวกัญจนา โพสต์หลังข่าวการล้มของช้าง ‘ฟ้าใส’ “อาลัยฟ้าใส…เมื่อก่อนนี้ดิฉันไปที่ปางคุณเล็กเกือบทุกเดือน จำชื่อช้างที่ปางได้หลายๆเชือกมาก.. แต่ตอนนั้นยังมีช้างไม่เยอะขนาดนี้ ..ไถ่ช้างไปอยู่ที่ปาง ถ้าจำไม่ผิดไม่น้อยกว่าสี่เชือก ..ตอนนี้ เชือกหนึ่งก็ยังติดอยู่ข้างใน แต่ปลอดภัยดี คือดอกแก้ว..ไปอยู่ที่คุณเล็กตั้งแต่หนึ่งขวบ ..ตอนนี้อายุประมาณ 12 ..


ดิฉันถึงกับเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิตเกี่ยวกับช้างที่ปางคุณเล็ก ..ชื่อ .. บันทึกของลูกช้าง…รายได้ยกให้คุณเล็กหมด..ตอนนั้น น้องนาวานยังเด็ก น้องยินดียิ่งเบบี้เลย น้องดอกไม้ก็ยังติดแม่..ไปทีไรก็จะเจอน้องฟ้าใสทุกครั้ง เป็นลูกรักของคุณเล็ก..ชีวิตฟ้าใสเป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ นำความสุขสู่ผู้คน..ขออานิสงส์นี้นำพาดวงจิตของหนูสู่ภพภูมิที่สูงนะลูก…รวมทั้งพังพลอยทองสู่สุคตินะคะ”


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/6YIwQJIXXik

คุณอาจสนใจ

Related News