สังคม

‘พิชัย’ สั่งคุมเข้มค่าบริการรถตักดิน ห้ามขึ้นราคา - แจงปมสั่ง ‘ทีมแบ็กโฮ’ หยุดทำหน้าที่ เคลียร์ดินโคลนแม่สาย

โดย petchpawee_k

4 ชั่วโมงที่แล้ว

155 views

คืบหน้าปฏิบัติการตักดินโคลนออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยแม่สาย 'ตัน ภาสกรนที' เปิดภารกิจกู้ภัย ช่วยชีวิตไก่ติดโคลน ที่แม่สาย จ.เชียงราย

ความคืบหน้าปฏิบัติการเอาโคลนออกจากพื้นที่ วานนี้ (27 ก.ย.67) ที่บริเวณ 1. โซนผามควาย  2.  ถนนเส้นชลประทานเกาะทราย  3. ถนนเหมืองแดงซอย 13 ถึง ซอย 8

ผ่านมา 3 วัน สามารถเปิดทางถนนได้แล้ว  แต่เดิมกองดินสูงเกือบอก ปิดเส้นทางถนน ตอนนี้เหลือประมาณแค่เข่าเป็นดินโคลนส่วนใหญ่ เพราะดินด้านล่างยังอุ้มน้ำ พอตัดดินด้านบนออกไปก็เหลือเป็นดินเหลว ซึ่งต้องใช้รถดูดคลองดู ปัญญาอุปสรรคที่พบ ก็จะเป็นเศษเหล็ก และ เศษแก้ว ที่ทิ่มยางรถ ( ค่าปะยาง 200 บาท ค่าเปลี่ยนยาง ยางฉีก 3500 บาท  ) วันที่ 27/09/67 รถยางรั่ว 9 คัน เปลี่ยนยาง ยางฉีก 4 คัน มากกว่าวันแรก    ซึ่งเมื่อเปิดทางได้แล้ว ชาวบ้านเริ่มมาดูบ้าน มาทำความสะอาด ก็ต้องขอความร่วมมือกับประชาชนที่เข้าไปทำความสะอาดบ้าน อย่าโยนเศษแก้ว เศษกระเบื้องออกนอกบ้าน ให้ใส่ถุงปุ๋ย ซึ่งทางมูลนิธิกระจกเงาได้นำมาให้ ตอนนี้ทีมล้างบ้านของกระจกเงาก็พร้อมมาช่วยล้างบ้าน

สำหรับบ้าน ที่มี ผู้ป่วยติดเตียง คนชรา ทหารจาก มทบ.37 จะเข้ามาช่วย ฟื้นฟูบ้านเรือประชาชนกลุ่มเปราะบาง  ช่วยเข้ามาทำความสะอาด ทหารช่วยทำความสะอาดให้

ขณะที่คุณตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชื่อดัง นำทีมงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ชุมชนถามควาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งพื้นที่นี้น้ำลดแล้ว แต่ยังมีโคลนตมเต็มพื้นที่ ชาวบ้านยังเดือดร้อนหนัก

ระหว่างที่คุณตัน เดินสำรวจพื้นที่ ก็ไปพบไก่ของชาวบ้านตัวหนึ่ง  ติดโคลนอยู่ ซึ่งตรงจุดนี้โคลนลึกมาก กู้ภัยจึงเข้าไปช่วยไก่ตัวดังกล่าว แต่การช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะต้องหาไม้พาดเป็นทางเดินเข้าไปหาไก่ เพราะดินโคลนจุดนี้ลึกมาก และคล้ายกับจะเป็นโคลนดูด ทำให้ไก่หนีออกมาไม่ได้   เมื่อกู้ภัยคว้าตัวไก่ได้ ก็ต้องพาออกมาล้างน้ำเอาดินโคลนที่ติดตามตัวออก  ซึ่งไก่มีท่าทางอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ดิ้นหนีคนเลย ไม่รู้ว่าติดโคลนแบบนี้มากี่วันแล้ว  จากนั้นก็เอาน้ำสะอาดให้ไก่กิน ก่อนจะเอาข้าวสุกให้กินประทังชีวิต

--------------------------------------

คณะทำงานแจงปมสั่ง ‘ทีมแบ็กโฮ’ หยุดทำหน้าที่ เพื่อสอบกรณีเรียกเก็บเงินชาวบ้าน

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถแบ็คโฮจาก จ.สมุทรสาคร  โพสต์ข้อความระบุว่า เป็นจิตอาสาไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยที่ชุมชนถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งใจจะนำรถแบ็คโฮของทีมตนเอง เข้าไปช่วยตักดินโคลนที่ติดค้างตามบ้านเรือนประชาชน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่หลังจากเข้าไปช่วยแล้ว กลับถูกหน่วยงานราชการในพื้นที่ ไล่ออกมาและสั่งไม่ให้ทำงาน จึงน้อยใจโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อ   พร้อมกับถ่ายรูปเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ที่สวมเสื้อกั๊กและมีข้อความที่ด้านหลังว่า กรมชลประทาน ทำให้ชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานราชการกันจำนวนมาก

วานนี้ (27 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบ  พบว่าทีมรถแบ็คโฮเอกชนดังกล่าว ก็ยังนำรถออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามปกติ  เพียงแต่ย้ายไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ชุมชนเกาะทรายแทน

นายบรรพต อายุ 30 ปี พนักงานขับรถแบคโฮ ที่อ้างว่าถูกสั่งให้หยุดทำงาน บอกว่า ตอนที่จะนำรถแบ็คโฮไปช่วยเหลือที่ชุมชนถ้ำผาจม ปรากฎว่า มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาแจ้งไม่ให้ทีมของตน  เข้าไปยังบริเวณหน้างาน ทั้งที่พวกตนมาด้วยใจ ค่าน้ำมันเถ้าแก่ก็ออกให้ก่อนทั้งหมด  ส่วนที่มีแชทหลุดและมีชาวบ้านบางคนระบุว่า ทีมงานของตนเรียกค่าว่าจ้างและเรียกรับเงินจากการเข้าไปทำงานตักดินโคลน ยืนยันว่า พวกตนไม่เคยเรียกรับเงินจากผู้ประสบภัย พวกตนทำงานอย่างเดียว  ที่พักก็พักฟรีที่โรงแรม ซึ่งเปิดให้จิตอาสาได้พักฟรีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องอ้างเรื่องค่าที่พักเพื่อขอรับเงินจากผู้ประสบภัย

ด้านนายบัณฑิตย์ พันธ์พลากร สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ต.เวียงพางคำ  กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่เคยสั่งให้ใครหยุดงานหรือออกไป แต่ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และเชิญจิตอาสารถแบ็คโฮเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อสรุปงานและแบ่งงานกัน  แต่ทีมรถแบ็คโฮเล็กกลุ่มดังกล่าวเข้ามาภายหลัง ซึ่งไม่ทราบว่าได้ประสานงานหน่วยงานใดหรือยัง  จึงได้เชิญให้ร่วมประชุมถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มาประชุมสักครั้ง  จึงทำงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  แทนที่จะทำให้เร็ว กลับช้าลง  ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเรื่องนี้จึงทำให้เอกชนไม่พอใจหรือไม่  แต่ยืนยันว่าไม่มีใครไปสั่งให้ใครหยุดงานอย่างแน่นอน

ด้านนายอนุสิทธิ์ ร้องหาญแก้ว มูลนิธิธรรมนัสพรหมเผ่า และนายศุภมงคล รัตนจิต ผจก.แผนกปฏิบัติการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก เปิดเผยว่า ในประเด็นที่ทางกลุ่มรถแบ็กโฮกลุ่มหนึ่งได้ไปโพสต์ระบายในโซเชียล บอกว่าถูกไล่ออกจากพื้นที่ชุมชนถ้ำผาจม  พวกตนในฐานะชุดทำงานที่อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่แรกอยากจะขอชี้แจงว่า  ทีมงานรถแบ็กโฮดังกล่าวเป็นทีมงานที่ทางกรมชลประทานได้ติดต่อประสานงานมาเพื่อช่วยเคลียร์พื้นที่ถ้ำผาจมไปถึงตลาดสายลมจอย โดยทางเทศบาลเวียงพางคำเป็นเจ้าภาพเรื่องน้ำมันรถ ส่วนมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก เป็นผู้จ่ายค่าจ้างรายวัน โดยคิดราคา 2 ทีมๆ ละ 4,000 บาทต่อวัน (หนึ่งทีมมีรถแบ็กโฮ 1 คัน และรถหกล้อ 1 คัน) รวมค่าจ้างวันละ 8,000 บาทต่อวัน โดยเขาเข้ามาทำงาน 2 วัน คือวันที่ 24 และ 25 ก.ย.

แต่การลงพื้นที่ เขาไม่ได้มาร่วมประชุมวางแผนงานกับทีมงานฟื้นฟูเลย เราก็ไปเชิญเขามาร่วมเขาก็ไม่มา และเรามาทราบทีหลังว่าเขาไปเรียกรับเงินจากชาวบ้าน หลังคาละ 1,000 บาท ซึ่งในความเป็นจริงชุดฟื้นฟูของเราไม่มีการเรียกเก็บเงินเลย ทำให้ฟรี

จากการไปไล่สอบถามพบว่า มีชาวบ้านจำนวน 3 ราย ถูกเรียกเงิน โดยรายสุดท้ายเขามีเงินในกระเป๋าแค่ 500 บาท เขาก็ต้องไปขอยืมเพื่อนบ้านมาจ่ายให้ครบตามที่ทางรถแบ็กโฮเรียก โดยเขาอ้างว่าทีมเขามีค่าใช้จ่ายค่าที่พัก ซึ่งพวกตนมองว่าการไปเรียกรับเงินกับชาวบ้านแบบนั้น มันเหมือนกับว่าเป็นการไปซ้ำเติม

พวกตนก็เลยต้องขอให้ทีมแบ็กโฮดังกล่าวหยุดการทำงานไปก่อน เพื่อจะได้ตรวจสอบว่ามีการเรียกรับเงินจริงหรือเปล่า และล่าสุดทางทีมแบ็กโฮชุดดังกล่าวก็ได้ลบเลขบัญชีธนาคารที่ส่งมาทางแมสเซนเจอร์ไปแล้ว ทางนี้จึงยังไม่สามารถโอนเงินค่าจ้างในส่วนที่ทำงาน 2 วันไปให้ได้

--------------------------------
 “พิชัย” สั่งการกรมการค้าภายใน เกาะติดค่าบริการรถตักดิน สั่งเข้มดูแลผู้ประกอบการห้ามปรับขึ้นราคา   ห้ามฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่กำลังฟื้นฟูบ้านเรือน ย้ำหากพบการกระทำผิด   ดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด

วันที่ 28 กันยายน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมและฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือในหลายจังหวัด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล มีความห่วงใยในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัย จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ วันที่ 28 -29 กันยายน 2567 เพื่อติดตามสถานการณ์ และเร่งรัดการฟื้นฟูพื้นที่ ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยและให้กําลังใจผู้ประสบภัยที่จังหวัดเชียงราย

โดยจากการลงพื้นที่ ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ที่น้ำลดและกำลังฟื้นฟูบ้านเรือนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากโคลนที่น้ำพัดมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพี่น้องประชาชนประสบปัญหาในการทำความสะอาด เนื่องจากหลังน้ำลด ได้เกิดโคลนหนาครอบคลุมทั้งในบ้านเรือน อาคารที่พัก ห้างร้าน ถนน ที่อยู่ในจุดที่ถูกน้ำท่วม ดังนั้น ประชาชนจึงได้ใช้บริการรถตักดินในการนำดินออก แต่พบว่ามีบางแห่งที่ค่าบริการปรับขึ้นสูงกว่าปกติ จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเข้มงวดในการตรวจสอบการคิดค่าบริการรถตักดินในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาค่าบริการรถตักดินเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ไม่ซ้ำเติมกันในภาวะวิกฤต

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กำกับดูแลให้มีการปิดป้ายแสดงราคาค่าบริการ และเข้มงวด ไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นค่าบริการรถตักดินอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชน หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด โดยกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ไม่เป็นเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ


https://youtu.be/AiP9DjmleVA

คุณอาจสนใจ

Related News