สังคม
ฝนหลวงฯ ใช้น้ำแข็งแห้งบินลด PM2.5 ใน กทม.ชั้นใน หลังค่าฝุ่นระดับสีส้มแทบทุกเขต
โดย panwilai_c
6 ม.ค. 2568
74 views
ผู้ว่าฯชัชชาติ รับมอบน้ำแข็งแห้งจากบริษัทเอกชน 300 ตัน ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นปฏิบัติการบิน ลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กทม.ชั้นในครั้งแรก เพื่อเจาะรูชั้นบรรยากาศให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองลอยขึ้นไปได้ ซึ่งมีหลักฐานชัด หลังขึ้นบินแล้ว เมื่อเดือนก่อน ช่วยลดฝุ่นได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รับมอบน้ำแข็งแห้ง จำนวน 300 ตัน จากผู้บริหารบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมฝนหลวงฯ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวว่า การใช้น้ำแข็งแห้งมาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นอีกวิธีหนึ่งที่วิจัยใหม่ คือ ลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน ที่เป็นตัวกั้นฝุ่น ไม่ให้ลอยขึ้น เหมือนฝาชีครอบไว้ เมื่อใช้น้ำแข็งแห้งโปรย ก็ไปเจาะรูในชั้นบรรยากาศ ในภาวะที่อากาศปิด ก็จะช่วยทำให้ฝุ่น PM2.5 ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้ ทำให้ฝุ่นระบายได้ดีขึ้น
จากการบินทดสอบ พบว่า การใช้น้ำแข็งแห้ง แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ได้แก้ปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยการบินครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือกับวิทยุการบิน กำหนดให้ เครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ สามารถบินลดฝุ่นในกทม.ชั้นในได้
นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า การบินลดฝุ่น คล้ายกับการบินทำฝนหลวง (ก่อเมฆ เลี้ยงเมฆ) แต่หลักการทำงานต่างกัน คือ บินเพื่อใข้น้ำแข็งแห้งเปิดช่องชั้นบรรยากาศ ซึ่งแต่ละชั้นมีฟิลม์ความร้อนอยู่ เพื่อให้ฝุ่น PM2.5 ลอยขึ้นไปด้านบนชั้นบรรยากาศได้ โดยใช้เทคนิคอุณหภูมิผกผันเฉียบพลัน (จากน้ำแข็งแห้ง) ทั้งนี้คาดว่า น้ำแข็งแห้งที่ได้รับบริจาคมา 300 ตัน จะสามารถทำการบินได้ประมาณ 3 เดือน เนื่องจาก จะใช้น้ำแข็งแห้งขึ้นบินลดฝุ่น วันละ 10 ตัน
สำหรับ หลักทำงานขึ้นบินเปิดช่องชั้นบรรยากาศ จะใช้น้ำแข็งแห้ง ที่มีอุณหภูมิลบ 78 องศาเซลเซียล ขึ้นบิน 1 ครั้ง ใช้น้ำแข็งแห้ง 700 กิโลกรัม ใช้เวลา 1 ชั่วโมง (บินวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า 10 โมง และบ่าย 2 โมง )
โดยแต่ชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิด้านบนจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ มีลักษณะเป็นฟิล์มความร้อนไปขวางกั้นการระบายของ PM 2.5 ดังนั้นจะใช้น้ำแข็ง ที่มีอุญหภูมิลบถึง 78 องศาฯ ไปเจาาะ เปิดช่อง จากเดิมมีอุณหภูมิสูง แต่เมื่อเราโปรยน้ำแข็งแห้งลงไป จะทำให้เกิดอากาศเย็นฉับพลัน อากาศในจุดนั้นๆ จะมีการเปิดช่อง ทำให้ระบายฝุ่น PM2.5 จากชั้นล่างที่กระทบประชาชน ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปได้
สำหรับระดับเส้นความร้อนที่ไปขวางกั้นฝุ่น มีตั้งแต่ยอดตึกสูง 3 ชั้น ประมาณ 30 เมตร ไปจนถึงตึกใบหยก และสูงกว่านั้นคือชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะบินลดฝุ่นในระดับ 3,000 ฟุต ขึ้นไป โดยเมื่อบินในระดับ 2 กิโลเมตร จะโปรยน้ำแข็งแห้ง ช่วยทำให้ฟิลม์ความร้อนขาดหลุดลุ้ย เกิดช่องระบายฝุ่นได้
ผู้เชี่ยวชาญการบินลดฝุ่นPM2.5 ของกรมฝนหลวงฯ บอกว่า ที่ผ่านมาขึ้นบินตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา มีทั้งน้ำแข็งแห้งและน้ำเย็นอุณหภูมิ 2-8 องศา พบว่า น้ำแข็งแห้งช่วยลดฝุ่นได้ 70เปอร์เซ็นต์ ช่วยรักษาคุณภาพอากาศต่ำกว่าค่ามาตรฐานได้อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร ต่างจากน้ำเย็น ที่ช่วยลดได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ผ่านมาบินจังหวัดใกล้เคียงกทม. แต่ไม่เคยบินพื้นที่กทม.ชั้นใน เพราะ การจราจรทางอากาศหนาแน่น
ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 กทม.ตลอดทั้งวัน เกือบทุกเขตอยู่ในระดับสีส้ม มีผลกระทบต่อสุขภาพ ยกเว้นเขตวัฒนาและบางนาอยู่ในระดับสีเหลือง โดยสูงสุดอยู่ที่เขตหนองแขม 58.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร ซึ่งช่วงนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/4WHZiGoyRVs
แท็กที่เกี่ยวข้อง ค่าฝุ่นPM25 ,น้ำแข็งแห้ง ,บินลดฝุ่น ,เจาะชั้นบรรยากาศ