สังคม

แพทย์เผยฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดทางภาคเหนือ พุ่งสูงสุดในประเทศ

โดย weerawit_c

7 เม.ย. 2567

42 views

เฟซบุ๊ก กัปตันไฟซอล บิน กิน เที่ยว Captain Faisal ได้เผยอีกมุมของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เชียงใหม่ ที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยระบุว่า “เชียงใหม่ฝุ่นหนักมาก ทัศนวิสัยแย่แบบดอยสุเทพหายวับไปเลย!! #ที่จอดเดิม แต่เพิ่มเติมคือเขาหายทั้งลูก

บินไฟลต์เช้าไปถึงเชียงใหม่เกือบ 9 โมง ทัศนวิสัยเหลือแค่ 2 กิโลเมตร เห็นรันเวย์ที่ก่อนความสูงต่ำสุด ที่นักบินต้องเห็นสนามนิดเดียว ( ประมาณ~200ฟุต above min)

พอเข้าสะพานเชื่อม เปิดประตูเครื่องบินปุ๊บกลิ่นควันเข้ามาทันที

พี่น้องที่อยู่เชียงใหม่ หรือเดินทางไปเชียงใหม่ รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

ข่าวอากาศ

VTCC 060200Z 01003KT 300V040 2000 FU NSC 31/18 Q1011 NOSIG

แปลว่า

VTCC ………..สนามบินเชียงใหม่…

060200Z ….วันที่ 6 ตอน 09:00

01003 KT …ลมทิศ 010 ความเร็ว 3 น็อต

2000 ………..ทัศนวิสัย 2000 เมตร

FU = Smoke = ควัน

อุณหภูมิ 31 / ความชื้นสัมพัทธ์ 18

ความกดอากาศ 1011”


นายนิรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศเพิ่ม เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า อีก 3 อำเภอ ประกอบด้วยในพื้นที่อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง และอำเภอไชยปราการ


อำเภอเชียงดาว ประกอบด้วย

- ตำบลปิงโค้ง หมู่ที่ 1-16

- ตำบลเมืองนะ หมู่ที่ 1-14

- ตำบลทุ่งข้าวพวง หมู่ที่ 1-7

- ตำบลเชียงดาว หมู่ที่ 1-16

- ตำบลแม่นะ หมู่ที่ 1-13

- ตำบลเมืองงาย หมู่ที่ 1-11

- ตำบลเมืองคอง หมู่ที่ 1-6


ส่วนที่อำเภอแม่แตง ประกอบด้วย

- ตำบลบ้านเป้า หมู่ที่ 1-7

- ตำบลกื้ดช้าง หมู่ที่ 1-8

- ตำบลสบเปิง หมู่ที่ 1-13

- ตำบลป่าแป๋ หมู่ที่ 1-13


และอำเภอไชยปราการ ประกอบด้วย

- ตำบลปงตำ หมู่ที่ 1-8

- ตำบลแม่ทะลบ หมู่ที่ 1-7

- ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 1-11

- ตำบลศรีดงเย็น หมู่ที่ 1-18


ส่วนอำเภอพร้าว ที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย

- ตำบลโหล่งขอด หมู่ที่ 1-9

- ตำบลแม่ปั๋ง หมู่ที่ 1-14

- ตำบลแม่แวน หมู่ที่ 1-11

- ตำบลน้ำแพร่ หมู่ที่ 1-8

- ตำบลบ้านโป่ง หมู่ที่ 1-8

- ตำบลป่าตุ้ม หมู่ที่ 1-12

- ตำบลสันทราย หมู่ที่ 1-14


และอำเภอฝาง ที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้เช่นกัน ประกอบด้วย

- ตำบลเวียง หมู่ที่ 1-20

- ตำบลม่อนปิ่น หมู่ที่ 1-15

- ตำบลแม่คะ หมู่ที่ 1-15

- ตำบลแม่ข่า หมู่ที่ 1-13

- ตำบลแม่งอน หมู่ที่ 1-15

- ตำบลโป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 1-7


ด้าน รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในภาคเหนือที่สะสมมายาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาล ในช่วงที่เกิดฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553-2564 ระหว่าง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ พบว่าภาคเหนือ


โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดในคนหนุ่มสาวของประชากรภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีงานวิจัยที่รองรับทั่วโลกแล้วว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด ได้อย่างมีนัยสำคัญ


หลักฐานสนับสนุนความสัมพันธ์ของฝุ่น PM2.5 กับมะเร็งได้จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ที่ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองในพื้นที่ อ.เชียงดาว


ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูงอันดับต้นๆ ของ จ.เชียงใหม่ โดยการขูดเซลล์บริเวณกระพุ้งแก้มของผู้ป่วยถุงลมโป่งพองไปตรวจ เปรียบเทียบกันระหว่างช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูง และช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 ต่ำ ผลปรากฏว่าในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูง เซลล์กระพุ้งแก้มของผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลง บ่งบอกว่ายีนมีความผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต


นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เลือดกำเดาไหล น้ำมูกไหลจากจมูกอักเสบ เจ็บคอ เสียงแหบ ไอ ซึ่งเป็นอาการจาก PM2.5 ที่ไม่รุนแรง แต่โรคที่มีความรุนแรงซึ่งมีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่น PM2.5 และพบมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คือ การกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต


งานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ที่ได้ทำการศึกษาผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ที่สัมพันธ์กับระดับ PM2.5 พบว่าทุกๆ 10 ไมโครกรัม/ลบ.เมตรที่เพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ย PM2.5 รายวัน จะสัมพันธ์กับการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของประชากรเชียงใหม่ 1.6% ในอีก 6 วันต่อมา


รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การจะลดจำนวนผู้ป่วยได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ สิ่งสำคัญคือการลดปริมาณฝุ่นได้แก่ ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ควบคุมฝุ่นควันข้ามแดน ส่วนประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม แนะนำให้ติดตามค่าฝุ่นละอองทุกวัน หากเกินค่ามาตรฐานควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหากมีความจำเป็น ควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้คือ หน้ากากมาตรฐาน N-95, KN-95 หรือ FFP2 และใช้ระยะเวลาในการออกนอกอาคารให้สั้นที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการสูด PM2.5 เข้าไปในร่างกายในปริมาณมากๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวได้


https://youtu.be/rni1cJ4zEjI

คุณอาจสนใจ

Related News