สังคม
ทีมโฆษกสตช. โชว์ยิง-เลื่อย พิสูจน์ 'เสื้อเกราะ' ยันได้มาตรฐาน ไม่มี 'ไม้อัด'
โดย panwilai_c
24 ก.ค. 2567
32 views
เรื่องของเสื้อเกราะไม้อัดที่ปรากฎในโซเชียลจนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเน็ต ล่าสุดวันนี้ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโชว์ยิงเสื้อเกราะ และเลื่อยพิสูจน์ ยืนยันไม่ได้ทำจากไม้อัด
ในการแถลงครั้งนี้ พันตำรวจเอก วีระยุทธ หิรัญ รองผู้บังคับการกองสรรพาวุธ นำเสื้อเกราะที่ล็อตเดียวกับที่ปรากฏในคลิปออกมาโชว์นักข่าว พร้อมระบุว่า เสื้อเกราะที่ปรากฏมีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 เคยใช้ในราชการตำรวจ จัดซื้อเมื่อเดือนเมษายนปี 2553 ทั้งหมด 650 ตัว
เป็นเสื้อเกราะพร้อมแผ่นเกราะแข็งระดับ 3 จำนวน 500 ตัว และเป็นเกราะอ่อนอีก 150 ตัว ยืนยันว่าเกราะทุกตัวเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ (National institute of Justice) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงระดับ ปืนซุ่มยิง หรือที่รู้จัก ปืน M16 ปืนอาก้า ปืนอาวุธสงคราม ราคาตัวละ 34,000 บาท
นอกจากการจัดหาเสื้อเกราะให้กำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดการประกันคุณภาพเสื้อเกราะรวมทั้งประกันชีวิตและประกันการบาดเจ็บของผู้สวมใส่ไว้ตามระยะเวลาข้างต้นด้วย หากได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 5 แสนบาท เสียชีวิตได้เงิน 1 ล้านบาท แต่เสื้อเกราะล็อตนี้หมดอายุการใช้งานแล้วเมื่อปี 2559 เพราะตามอายุที่กำหนดไว้คือ 5 ปีเท่านั้น ขั้นตอนจากนี้จะเป็นการจำหน่ายและทำลายยุทธภัณฑ์ตามระเบียบราชการ
โดยระหว่างการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ได้เปิดคลิปวิดีโอยิงทดสอบเสื้อเกราะที่ผลิตล็อตนี้ด้วย ใช้ปืน 3 ขนาด คือ 9 มม. จุด 357 แม็กนั่ม และ จุด45 ยิงใส่อย่างละ 3 นัด
พลตำรวจโท ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า ภาพเกราะที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลเป็นเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในชุดจัดซื้อ8A154338 จริง แต่เศษไม้ลักษณะสามเหลี่ยมที่วางอยู่บนเกราะ ยืนยันว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเกราะแน่นอน แต่เป็นชิ้นส่วนจากสิ่งใดยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากภาพที่โพสต์เป็นการครอปภาพแบบแคบจนไม่เห็นภาพรวมของเสื้อเกราะ
ส่วนวัสดุที่ใช้ทำเสื้อเกราะ เป็นผ้าเส้นใยโพลีเอทิลีน ผสมกับพอลิสไตรลีน อัดด้วยกำลังอัดแน่นความดันสูง ทำให้ผ้าทั้งหมดรวมตัวกันจึงมีลักษณะเหมือนของแข็ง แต่มีน้ำหนักเบา และเส้นใยเหล่านี้จะดูดซับและกระจายพลังงานของหัวกระสุนปืน เป็นผลให้กระสุนนั้นบิดเบี้ยวหรือเสียรูปไปจนไม่สามารถทะลุเกราะได้
นอกจากนี้ยังนำเสื้อเกราะดังกล่าวมาให้นักข่าวชายเลื่อย แต่เลื่อยไม่ได้ เพราะเกราะเหนียวมาก ทำให้นักข่าวต้องขอให้ทดสอบยิงโชว์ด้วยกระสุนขนาด 9 มม. จุด 357 แม็กนัม และ จุด 45 รวม 8 นัด ในระยะยิง 5 เมตร กระสุนเข้าที่ท้อง ไหล่ซ้าย ไหล่ขวา แต่ไม่ทะลุเสื้อเกราะ
พลตำรวจตรี ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกด้วยว่าเสื้อเกราะหรือยุทธภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานจะไม่สามารถขายให้บุคคลใดได้เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ของทางราชการ ต้องถูกนำไปทำลายเท่านั้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง เสื้อเกราะ ,ไม้อัด ,เสื้อเกราะไม้อัด ,ตำรวจ