สังคม

อยู่รพ.ตำรวจจริง ราชทัณฑ์แจงกรณีส่งตัวผู้ต้องหาโกงหุ้นสตาร์ค ชี้ป่วยหนัก

โดย gamonthip_s

21 พ.ค. 2567

50 views

จากกรณีกลุ่มผู้เสียหายในคดีหุ้นกู้ STARK จำนวนมากกว่า 50 คน ยื่นหนังสือถึงพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังจากทราบว่า นายวนรัชต์ จำเลยรายสำคัญในคดีทุจริตหุ้นกู้ stark ที่ถูกคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก่อนถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และล่าสุดมีกระแสข่าวว่า นายวนรัชต์ได้ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2567 และอาจได้รับการส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ห้อง VIP



โดยนายพงศ์ภัค อารียาภินันท์ รักษาราชการผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 67 ที่ทางเรือนจำได้รับตัวนายวนรัชต์มานั้น พบว่าผู้ต้องขังมีอาการเจ็บแน่นท้อง มีประวัติว่าได้เข้าไปฉีดสี เพื่อตรวจโรคหัวใจมาก่อน แต่จากการตรวจเบื้องต้นการทำงานของหัวใจยังปกติ และข้อมูลว่ามีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง จึงเป็นข้อบ่งชี้ให้นำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันที่ 13 ก.พ. 67 จนอาการก็ดีขึ้นตามลำดับ จากนั้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ได้รับแจ้งว่าผู้ป่วยมีอาการปวดบวมที่บริเวณอัณฑะ เป็นก้อนใหญ่ขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร ประเมินว่าน่าจะเป็นโรคติดเชื้อ จึงให้ยาฆ่าเชื้อทาน อาการทุเลาลง แต่ยังมีก้อนอยู่ แต่ไม่ใช่เคสเร่งด่วน ระหว่างนั้นได้ปรึกษาแพทย์ทางเดินปัสสาวะ แต่ไม่ใช่แพทย์ประจำ ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าผลการตรวจสอบ พบว่ามีก้อนจริง และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคมะเร็งจึงวางแผนผ่าตัดอัณฑะข้างซ้ายทันที ซึ่งได้ปรึกษา ทางโรงพยาบาล แต่ไม่มีคิวผ่าตัดใน 1 เดือน จึงจะได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 23 เมษายน แต่ถ้าเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 1 พฤษภาคม ส่วนจะส่งตัวกลับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ



ด้านนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลว่า ได้ทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ส่วนจะส่งตัวกลับมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งจะรายงานมายังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ภายใน 30 วันหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามระเบียบ  



นายสมบูรณ์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้วันนี้ได้เชิญผู้แทนจากโรงพยาบาลตำรวจมาร่วมแถลงข่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ โดยให้เหตุผลว่าคนละสังกัดกัน



ขณะที่ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานความคืบหน้าในคดีดังกล่าวว่า ล่าสุดสามารถยึดทรัพย์ได้เพิ่มเติมมากกว่า 100 ล้านบาท และได้จะประสานกับปปง.โดยตลอดเวลาเพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้กับผู้เสียหายทุกคน ส่วนบริษัทย่อยของบริษัทสตาร์คฯ ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ก็มีความพยายามนำทรัพย์สินมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ต้องหาบางส่วนได้เช่นกัน



อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังคงมีข้อสงสัยต่อการชี้แจงจากซึ่งงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การผ่าตัดอัณฑะในลักษณะเดียวกัน ใช้เวลาพักฟื้นไม่ถึง 1 เดือน ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เหตุใดจึงได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าไปพักฟื้นที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจซึ่งเป็นห้องวีไอพี, การใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานในการรักษา, การใช้สิทธิรักษาพยาบาล และขอให้กรมราชทัณฑ์ทำหนังสือสอบถามอาการไปยังโรงพยาบาลตำรวจ หลังครบกำหนด 30 วัน เพื่อให้มีหนังสือตอบกลับกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงขอให้โทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้รับผิดชอบของโรงพยาบาลตำรวจ แต่นายสมบูรณ์กล่าวว่า ไม่สามารถกระทำได้ ย้ำว่าขอให้รอขั้นตอนตามระเบียบหน่วยงาน เพราะไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานของหน่วยงานอื่นได้



ขณะที่ กรมราชทัณฑ์แจงกรณีส่งผู้ต้องขังรับการรักษาโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ตามที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม ของกลุ่มผู้เสียหายจากคดีของ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ต้องขังคดีฉ้อโกง ซึ่งอยู่ระหว่างไต่สวน-พิจารณาคดี ออกไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นความจริงหรือไม่นั้น



กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แจ้งว่า ได้รับตัวนายวนรัชต์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยอาการป่วยหลายโรค ซึ่งระหว่างรักษาตัวอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พบว่ามีความผิดปกติ เป็นก้อนเนื้ออักเสบในร่มผ้า ซึ่งได้ทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง 14 วัน แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 โดยให้เป็นผู้ป่วยใน




ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 แพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้ดำเนินการผ่าตัดเพื่อทำการรักษา แต่เนื่องจากมีอาการติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสาน เพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณาต่อไป



ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอยืนยันว่า ผู้ต้องขังทุกรายหากมีอาการเจ็บป่วยภายในเรือนจํา จะได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยถือตามหลักสิทธิมนุษยชนและสุขภาพผู้ต้องขังเป็นสำคัญ



และหากอาการเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถ จะต้องพิจารณาส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก เพื่อให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563

คุณอาจสนใจ

Related News