สังคม

เสือโคร่งอ้างเป็นไลเกอร์ชื่อ "นีน่า" ส่งเลี้ยงบึงฉวาก เตรียมเรียกค่าดูแลตามกฎหมาย 1.3 ล้านบาทเศษ "พัชรวาท" ตั้งชื่อให้ "นีน่า"

โดย kanyapak_w

18 พ.ค. 2567

513 views

นำลูกเสือโคร่งอ้างเป็นไลเกอร์ส่งเลี้ยงบึงฉวาก เตรียมเรียกค่าดูแลตามกฎหมาย 1.3 ล้านบาทเศษ "พัชรวาท" ตั้งชื่อน้อง"นีน่า"



(18 พ.ค.67) จากกรณีที่มีลูกเสือโคร่งหลุดออกมาเดินอยู่ในชุมชน ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงดึกของวันที่ (16 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยเจ้าของได้อ้างว่าเป็นลูกสิงโตผสมเสือโคร่ง หรือ “ไลเกอร์” และได้มีการเพ้นท์สีให้เหมือนเสือเพื่อเข้าฉากถ่ายทำภาพยนต์นั้น



ต่อมา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ตรวจยึดเสือโคร่งจากผู้ที่ระบุว่าเป็นเจ้าของคือ นายโยธิน (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่หลุดออกมาในชุมชนและไม่ใช่ “ไลเกอร์” แต่อย่างใด



ทั้งนี้ จากการตรวจสอบลูกเสือโคร่งตัวดังกล่าว ไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองของทางราชการและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) ทางเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) จึงได้ตรวจยึดสัตว์ป่าของกลาง พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับนายโยธินฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ครอบครองลูกเสือโคร่ง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2562 มาตรา 15 ฐานปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง(ลูกเสือโคร่ง)พ้นจากการดูแลของตน มาตรา 17 ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง(ลูกเสือโคร่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง(ลูกสิงโต)โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 19 วรรคสอง ฐานไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขแจ้งการรับแจ้งตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางคล้า จ.ฉะเชิงเทราเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งขออนุมัติพนักงานสอบสวน นำลูกเสือโคร่งส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) ต่อไป



ด้านความคืบหน้าหลังจากเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้นำส่งลูกเสือโคร่งมาดูแลต่อ ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันนี้ (18 พ.ค.67) โดยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งชื่อให้กับลูกเสือโคร่งตัวดังกล่าวว่าน้อง "นีน่า"



ด้านนายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก กล่าวว่า ลูกเสือโคร่ง ซึ่งเป็นของกลาง คดีอาญาที่ 244/2567 ยึดของกลางไว้ลำดับที่ 63/2567 นำส่งมอบโดยหัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่ ) และเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2567 เวลา 05.00 น.ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี



สำหรับลูกเสือโคร่งตัวดังกล่าว มีอายุประมาณ 3-4 เดือน เพศเมีย น้ำหนัก  20.5  กิโลกรัม ส่วนอาหารลูกเสือโคร่ง เป็นนม KMR ชนิดผง (ชง) ภายใน 1 วัน แบ่งให้กินนมทุก 3 ชม./ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิลิตร พร้อมด้วยเนื้อวัวสับหยาบ ให้กินวันละ 2 มื้อ ครั้งละ 500 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีการเสริมแคลเซียม สำหรับสุนัขแบบเม็ด



พฤติกรรมโดยทั่วไปที่ตรวจเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ลูกเสือโคร่งมีความสนใจสิ่งแวดล้อมดี มีพฤติกรรมค่อนข้างติดคน มีความอยากใกล้ชิดคนตลอดเวลา ส่วนการกินเนื้อวัว และนม ปกติ ปัสสาวะปกติ ยังไม่ถ่ายอุจจาระ



ด้าน สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก ตรวจอาการเบื้องต้นพบว่า สองขาหลังลงน้ำหนักได้ แต่ไม่แข็งแรงมาก (ขาหลังอ่อน)  ซึ่งจะต้องตรวจดูอาการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมสารอาหารจำพวกแคลเซียม และให้กินอาหารที่ถูกหลักตามโภชณศาสตร์ที่ลูกเสือโคร่งควรได้รับตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันภาวะโรคกระดูกบาง กระดูกเสื่อม ในลูกสัตว์ได้ ส่วนการเลี้ยงดูแล จะต้องทำการแยกเลี้ยงเดี่ยว เพื่อทำการกักโรค ภายใน 7 วัน ไม่ปล่อยเดินเล่นนอกอาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์ แต่ที่อาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์สามารถเปิดรับแสงแดดได้ในยามเช้า



ส่วนในระหว่างการกักโรค ภายใน 7 วัน สัตวแพทย์จะต้องดำเนินการ เจาะเลือด เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และทำการส่งเก็บเลือดไปยังหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ เพื่อทำการตรวจชนิดพันธุ์ของลูกเสือโคร่ง และทำการฝังไมโครชิฟ เพื่อทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า ต่อไป



นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังเตรียม​ เรียกค่าดูแลลูกเสือโคร่งจากผู้ระบุว่าเป็นเจ้าของเสือ​ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯต้องดูแลเสือโคร่งมากกว่า 10 ปี​ เป็นเงิน 1,394000 บาท​ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าและค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ.2565




ล่าสุดด้านศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก  ขอรายงาน รายละเอียดเกี่ยวกับ ลูกเสือโคร่งของกลาง เพศเมีย จำนวน 1 ตัว (ยังไม่ได้ตั้งชื่อ) ซึ่งเป็นของกลาง คดีอาญาที่  244/2567 ยึดของกลางไว้ลำดับที่ 63/2567 นำส่งมอบโดย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่ ) และ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2567 เวลา 05.00 น.  ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี



1. รายละเอียดลูกเสือโคร่ง

ลูกเสือโคร่ง อายุโดยประมาณ 3-4 เดือน

เพศเมีย น้ำหนัก  20.5  กิโลกรัม



2. อาหารลูกเสือโคร่ง



1.นม KMR ชนิดผง (ชง) ภายใน 1 วัน แบ่งให้กินนมทุก 3 ชม./ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิลิตร



2. เนื้อวัวสับหยาบ ให้กินวันละ 2 มื้อ ครั้งละ 500 มิลลิกรัม



3. อื่นๆ

- เสริมแคลเซียม สำหรับสุนัข แบบเม็ด



อาการและพฤติกรรมโดยทั่วไปที่ตรวจเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 มีดังนี้



1.มีความสนใจสิ่งแวดล้อมดี มีพฤติกรรมค่อนข้างติดคน มีความอยากใกล้ชิคคนตลอดเวลา



2. การกินเนื้อวัว และนม ปกติ



3. ปัสสาวะปกติ ยังไม่ถ่ายอุจจาระ



4. สัตวแพทย์ตรวจอาการ เบื้องต้นพบว่า สองขาหลังลงน้ำหนักได้ แต่ไม่แข็งแรงมาก (ขาหลังอ่อน)  ซึ่งจะต้องตรวจดูอาการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมสารอาหารจำพวกแคลเซียม และให้กินอาหารที่ถูกหลักตามโภชณศาสตร์ที่ลูกเสือโคร่งควรได้รับตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันภาวะโรคกระดูกบาง กระดูกเสื่อม ในลูกสัตว์ได้



5. การเลี้ยงดูแล จะต้องทำการแยกเลี้ยงเดี่ยว เพื่อทำการกักโรค ภายใน 7 วัน ไม่ปล่อยเดินเล่นนอกอาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์ แต่ที่อาคารเลี้ยงดูลูกสัตว์สามารถเปิดรับแสงแดดได้ในยามเช้า



6. ในระหว่างการกักโรค ภายใน 7 วัน สัตวแพทย์จะต้องดำเนินการ เจาะเลือด เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และ ทำการส่งเก็บเลือดไปยัง หน่วยนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ เพื่อทำการตรวจชนิดพันธุ์ของลูกเสือโคร่ง และทำการฝังไมโครชิฟ เพื่อทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า ต่อไป





นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง

หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และ

ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก  



สพ.ญ.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย

นายสัตวแพทย์ชำนาญการ

หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่)



สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร

นายสัตวแพทย์ชำนาญการ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และ

ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก  



รายงาน

คุณอาจสนใจ

Related News