สังคม

คุยกับชาวบ้าน 'ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง' ลั่นเจ้าของใจดำ โคตรเลว! สุดเดือดร้อนต้นยางยืนต้นตาย

โดย passamon_a

24 เม.ย. 2567

491 views

ชาวบ้านยังอาศัยอยู่ศูนย์อพยพ สำรวจความเดือดร้อนพบพื้นที่การเกษตร-สวนยางพารา แห้งยืนต้นตาย หลังโรงงานสารเคมีระยอง ลักลอบปล่อยน้ำเสีย-น้ำซึมออกจากบ่อ ดินเป็นคราบสีสนิม จนชาวบ้านเรียกทุ่งสีทอง ซ้ำคันดินพังน้ำเสียทะลักเข้าสวนยาง ชาวบ้านเผยรวมตัวกันฟ้องแพ่งเมื่อปี 65 ชนะคดี จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว ลั่นเจ้าของโรงงานใจดำโคตรเลว


กรณีเหตุไฟไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ในพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ม.4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ควันพิษลอยฟุ้งส่งผลกระทบ 2 ตำบล คือ ต.บางบุตร และ ต.หนองบัว ก่อนอพยพชาวบ้านไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งนี้มีประชาชนรักษาตัวจากอาการคลื่นไส้ อาเจียน 55 ราย ขณะที่โรงพยาบาลบ้านค่าย ได้เปิดให้ประชาชน เจ้าหน้าที่กู้ภัย เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เข้าตรวจสุขภาพฟรี


เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ทีมข่าวเดินทางไปที่ อบต.หนองบัว ซึ่งเป็นสถานที่อพยพ พบว่ามีชาวบ้านใน ต.หนองบัว ซึ่งประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวลงทะเบียนไว้ 123 คน ขณะนี้อพยพอยู่ศูนย์พักพิงแห่งนี้ 60 คน โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แบ่งแยกเป็นห้อง ๆ รวมถึงห้องผู้ป่วยติดเตียง มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยดูแลสอบถามเรื่องสุขภาพอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ พบว่าในตำบลดังกล่าวยังมีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งของสารเคมี ชาวบ้านบางคนที่ไม่ได้อพยพมาอยู่ที่นี่ ก็ไปอาศัยอยู่บ้านญาติหรือเปิดโรงแรมรีสอร์ตพักอาศัย


ทีมข่าวได้คุยกับ นางสายพิณ อายุ 68 ปี ชาวบ้าน หมู่ 11 ต.หนองบัว พาสามีเป็นผู้ป่วยติดเตียง อพยพมาอยู่ อบต.หนองบัว กล่าวว่า วันเกิดเหตุได้กลิ่นสารเคมีแรงมากจนไม่สามารถอยู่บ้านได้ แสบจมูก แสบตา เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่น ๆ พากันอพยพหมด ได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งนี้ตนไม่เคยทราบมาก่อนว่าโรงงานแห่งนี้เก็บสารเคมีอันตรายไว้ เพิ่งมาทราบหลังเกิดเหตุไฟไหม้


ส่วนที่ศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยชั่วคราว อบต.บางบุตร พบว่าชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ที่นี่ บางส่วนทยอยเดินทางกลับเข้าบ้านตัวเองแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยติดเตียง ยังคงพักพิงอยู่ที่นี่ชั่วคราว เนื่องจากในพื้นที่ยังมีกลิ่นเหม็นของสารเคมี ขณะเดียวกันมีหน่วยงานต่าง ๆ นำอาหาร น้ำดื่ม สิ่งของมาบริจาคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น


นอกจากนี้ ทีมข่าวลงพื้นที่ไปความเดือดร้อนของชาวบ้าน หลังทราบว่าโรงงานแห่งนี้ลักลอบปล่อยน้ำสารเคมีเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน โดย นางอารีรัตน์ อายุ 48 ปี ชาวบ้าน หมู่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย พาทีมข่าวไปดูสวนยางพาราของชาวบ้านหนึ่งอยู่ติดกับโรงงานฯ พบว่าน้ำสารเคมีที่ทางโรงงานขุดบ่อกักเก็บไว้ได้ซึมไหลเข้าบ่อน้ำของชาวบ้านที่ใช้ทำการเกษตร


น้ำสารเคมียังได้ซึมลงพื้นดินและพื้นทรายในสวนยาง ทำให้ต้นยางพาราคงยืนต้นแห้งตาย จนชาวบ้านต้องขุดดินเป็นร่อง เพื่อให้น้ำสารเคมีอยู่ในร่องไม่ให้ไหลไปโดนต้นยางพาราและพืชผลการเกษตรที่เหลือ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าดินในสวนยางพาราแห่งนี้มีแต่คราบสารเคมี เป็นสีเหลืองน้ำตาล คล้ายสีสนิม จนชาวบ้านเรียกว่า ทุ่งสีทอง บางจุดมีน้ำขังเป็นสีดำเน่าเสีย


นางอารีรัตน์ กล่าาว่า ผลกระทบดังกล่าวมีการร้องเรียนนับไม่ถ้วน ชาวบ้านที่มีพื้นที่การเกษตรรอบโรงงาน 10 กว่าราย ปลูกต้นยางพารา ทำนา ปลูกต้นหมาก ประสบปัญหามานาน 15 ปี แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากจริงจัง มีเจ้าหน้าที่มาดูบอกจะจัดการให้แต่ก็ไม่ดำเนินการอะไร ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจบเจ็บป่วย แพ้สารเคมีที่มีการระเหย เกิดผื่นคัน ส่งกลิ่นเหม็น เครียด จนชาวบ้านบางรายทนอยู่บ้านตัวเองไม่ได้ต้องไปอยู่ที่อื่น


กระทั่งปี 2565 ชาวบ้านจำนวน 15 คน (ตายไปแล้ว 2 คน) รวมตนเองด้วย ซึ่งสวนยางพารา 20 กว่าไร่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงรวมตัวกันฟ้องแพ่งโรงงานดังกล่าว ชนะคดี จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาแม้แต่บาทเดียว จนชาวบ้านต้องมาแก้ไขกันเอง ไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยแม้แต่ครั้งเดียว ตอนนี้หน่วยงานไหนมาไม่อยากคุยด้วยแล้ว เบื่อ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ ถกเถียงกันเอง เกี่ยงกันไม่ยอมช่วยเหลือสักที ยื่นเรื่องร้องเรียนมาตลอด


ขณะที่ นายสนิท อายุ 53 ปี ชาวบ้าน หมู่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย พาไปดูคันดินบริเวณบ่อเก็บน้ำเสียซึ่งเป็นสารเคมีของโรงงานฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2565 ช่วงหน้าฝน คันดินพังถล่ม และมีการนำถุงบิ๊กแบ็คขนาดใหญ่มากั้นไว้ โดยน้ำสารเคมีในบ่อไหลทะลักเข้าสู่สวนยางพาราของชาวบ้าน และไหลไปตามทางน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหนองพะวา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงาน ประมาณ 1 กิโลเมตร ตอนนี้หนองพะวา น้ำกลายเป็นสีน้ำตาลมีกลิ่นเหม็น และทุกวันนี้น้ำสารเคมีก็ยังซึมออกจากบ่อของโรงงานฯ เนื่องจากบ่อน้ำของโรงงาน และโรงงานฯ อยู่ที่สูงคล้ายอยู่บนหลังเต่า น้ำสารเคมีจึงซึมลงดินได้ง่าย


นายสนิท กล่าวว่า ชาวบ้านจำใจต้องอดทน เพราะไปร้องหน่วยงานไหนก็ไม่มีใครมาเหลียวแล บางหน่วยงานเข้ามาดูแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ชาวบ้านได้แต่รออย่างมีความหวัง แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ต้องใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ตอนนี้ชาวบ้านมีความกังวลไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ทำใจ หวังว่าสักวันนึงจะดีขึ้น


"เจ้าของโรงงานใจดำมาก ถ้าพูดจริง ๆ โคตรเลวมาก ไม่ใช่โรงงานเล็ก ๆ พื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน 800-1,000 ไร่ เสียหายมหาศาล ชาวบ้านต้องเฝ้าระวังกันเอง"


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/iaKhcwMkNFA

คุณอาจสนใจ

Related News