สังคม

รวบพ่อค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง เจออื้อ "ลูกเสือ-นกเงือก-นกกาฮัง"

โดย taweelap_b

13 พ.ค. 2565

94 views

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 65 นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับการประสานจากตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ว่ามีการลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครองผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่าผู้ลักลอบค้าเป็นพ่อค้ารายใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา


ในวันนี้ เวลา 10.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กก.3 บก.ปทส.) และสถานีตำรวจภูธรโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ร่วมวางแผนจับกุมผู้กระทำผิดค้าสัตว์ป่า ผิดกฎหมาย บริเวณบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 17 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา


เมื่อเข้าไปตรวจสอบพบบุคคลเป็นชาย จำนวน 1 คน ทราบชื่อภายหลัง นายเคียง (สงวนนามสกุล) อายุ 67 ปี รับเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเข้าตรวจค้น พบสัตว์ป่าคุ้มครอง นกกาฮัง จำนวน 6 ตัว นกเงือกกรามช้าง จำนวน 2 ตัว และลูกเสือโคร่ง จำนวน 2 ตัว พร้อมอุปกรณ์การกระทำผิด กล่องเดินทางสำหรับใส่สัตว์ จำนวน 2 กล่อง กรงเหล็กขนาดใหญ่ จำนวน 3 กรง และโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง


นายเคียง ให้การอ้างว่าว่า สัตว์ป่าคุ้มครองของกลาง ได้ซื้อมาจากบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยนกกาฮัง ซื้อมาตัวละ 6,000 บาท นกเงือกกรามช้าง ซื้อมาตัวละ 8,000 บาท และลูกเสือโคร่ง ราคาตัวละ 150,000 ก่อนจะนำมาส่งให้กับตนยังสถานที่เกิดเหตุ


นายนาวี ช้างภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ เปิดเผยว่า  คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณา แล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานการอนุญาตให้ค้า ครอบครอง และเพาะพันธุ์ ของทางราชการ มีความผิดตามมาตรา 17 ในฐาน “มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี” อัตราโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 29 ในฐาน “ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ประกอบมาตรา 112 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จึงควบคุมตัวนายเคียง ไว้เป็นผู้ต้องหา พร้อมตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวข้าวต้น และอุปกรณ์การกระทำผิด นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา


สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดนกกาฮัง จำนวน 6 ตัว นกเงือกกรามช้าง จำนวน 2 ตัว และลูกเสือโคร่ง จำนวน 2 ตัว พร้อมอุปกรณ์การกระทำความผิดดังกล่าว ขออนุมัติพนักงานสอบสวนรับไปส่งมอบให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลและเก็บรักษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป



นกกก หรือ นกกาฮัง หรือ นกกะวะ เป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนกเงือก 13 ชนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีลำตัวยาวจากหางถึงปาก อาจจะถึง 150 ซม. น้ำหนักหลายกิโลกรัม เป็นนกที่มีอายุยืนได้ถึง 30-40 ปี ประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา กินผลไม้ต่าง ๆ และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ชอบกระโดดหรือร้อง ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ มีสถานภาพ ที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้าง มีขนาด 110 เซนติเมตร มีขนาดเล็กกว่านกกกเล็กน้อย โหนกเตี้ยแบนมีลอนหยัก จำนวนลอนบ่งบอกถึงอายุของนก คือ อายุ 1 ปี มี 1 ลอน ชอบกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ บินได้ไกลมาก หากินได้ทั่วไป มีเสียงร้อง เอิก เอิ๊ก เอิก เอิ๊ก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบจากที่ราบจนถึงที่สูง 1800 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยนกเงือกทุกชนิดช่วยแพร่กระจายพันธุ์เมล็ดพืชป่าได้ตลอดชีวิต ให้ต้นไม้ไปงอกไกล ๆ ตามระยะที่นกเงือกบินหาอาหาร และผลไม้หลายชนิดก็วิวัฒนาการปรับตัวให้ผ่านระบบการย่อยของนก เพื่อให้เมล็ดพืชมีความเหมาะสมพอดี พร้อมงอกทันทีเมื่อถูกขับถ่ายออกมา


สำหรับ เสือในประเทศไทย พบเสือโคร่งอาศัยอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็นทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งเสือเป็นสัตว์ที่มีชีวิตสันโดษ ยกเว้นแม่เสือที่มีลูกอ่อน แต่เสือแต่ละตัวจะมีอาณาเขตไม่ไกลกันนัก เสือโคร่งบางตัวอาจมีพฤติกรรมเข้าสังคม เช่น แบ่งปันเหยื่อกันกิน เสือโคร่งจะหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ โพรงไม้ และในบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น เสือโคร่งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง ในพื้นที่ที่มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ เมื่อเสือโคร่งโตเต็มวัย ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะอาศัยอยู่เพียงลำพัง จนกระทั่งถึงเวลาที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ซึ่งตัวเมียอุ้มท้องประมาณ 3 เดือนก่อนคลอดลูกจำนวน 2 – 7 ตัว แต่ส่วนใหญ่ลูกจะรอดชีวิตจนโตเต็มวัยประมาณ 2 – 3 ตัว เท่านั้น เสือโคร่งตัวเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูก ในขณะที่ตัวผู้จะคอยปกป้องอาณาเขตไม่ให้เสือโคร่งตัวผู้อื่น ๆ รุกล้ำ และอาจจะผสมพันธุ์กับเสือโคร่งตัวเมียอื่น ๆ ที่อยู่ในอาณาเขตของตน เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และในประเทศไทยเสือโคร่งมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์  โดยปัจจัยที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว มีปัญหาหลักอยู่ 3 ปัจจัย คือ ถูกล่า จำนวนของเหยื่อลดน้อย และพื้นที่ป่าถูกทำลาย

คุณอาจสนใจ

Related News