สังคม

ชาวบ้านเดือด ทนมานาน 7 ปี โรงงานปลาร้าส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ปล่อยน้ำเสีย ทำผื่นคันขึ้น ร้องเรียนไร้แก้ไข

โดย nut_p

6 ก.ค. 2567

170 views

ชาวบ้านร้อง โรงงานปลาร้า 2 โรงงานตั้งอยู่ในชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นโชยมาตามลม บางวันหนักจนคันเป็นผื่นขึ้นตามตัวตากผ้านอกบ้านไม่ได้ เดือดร้อนมานานร่วม 7 ปี ไม่มีการแก้ไขที่ยั่งยืน ด้านโรงงานซึ่งมีสองโรงงานติดกันยืนยัน แก้ไขตามข้อร้องเรียนแล้ว และจะแก้ไขครบวงจรเสร็จสรรพในสิ้นปีนี้



วันที่ 6 กรกฏาคม 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพบกับนาย จตุพล ปะกาวะรัง อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77 ม.10 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งร้องเรียนให้สื่อมวลชน ช่วยเหลือตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไขของโรงงานผลิตน้ำปลาร้า จำนวน 2 โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ส่งกลิ่นเหม็นมานาน 7 ปี ร้องเรียนไปทุกหน่วยงาน แต่ไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและยั่งยื่น โดยเป็นโรงงานผลิตปลาร้าคนละยี่ห้อ



นายจตุพล เปิดเผยว่า การร้องเรียนสื่อมวลชนในครั้งนี้ เนื่องจากว่า โรงงานผลิตน้ำปลาร้า 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพียงแค่ใช้คนละชื่อ ซึ่งเปิดเป็นบริษัทผลิตน้ำปลาร้าสำเร็จรูปขาย จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และส่งขายต่างประเทศ แต่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง



ในปี 2560-2562 ได้ร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง ขยะ และน้ำเสีย ซึ่งในเรื่องของฝุ่นละอองนั้น ได้รับการแก้ไข โดยมีการทำถนน คสล.ขึ้นมาแทนถนนเดิม ฝุ่นละออง ก็หายไป เรื่องขยะทางโรงงานแจ้งว่า จ้างบริษัทจัดเก็บขยะมาเก็บขยะของโรงงานไปทำลาย ส่วนเรื่องน้ำเสีย ทางโรงงานรับปากว่าจะทำบ่อบำบัดให้ถูกสุขลักษณะ ส่วนเรื่องกลิ่นยังเป็นปัญหายาวนานมาอย่างต่อเนื่อง



ในเดือนตุลาคม 2565 ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ให้มาตรวจสอบเรื่องกลิ่นของโรงงานทั้ง 2 แห่ง หลังการร้องเรียน เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมภาค 10 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่จาก สสจ.ขอนแก่น และกรมอนามัย และ อบต.บ้านดง ร่วมกันลงพื้นที่มาตรวจสอบ ภายหลังการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 แจ้งว่า โรงงานเปิดโดยไม่ได้ขออนุญาตให้ถูกต้อง ทางด้านอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ก็มีการสั่งปรับกับทางโรงงาน และสั่งให้โรงงานสั่งปิดกิจการ จำนวน 30 วัน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง



นายจตุพล กล่าวอีกว่า ตนและชาวบ้าน ก็ปล่อยให้โรงงานดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และทำให้ถูกต้อง เพราะคาดว่าจะไม่ต้องทนกับการเหม็นกลิ่นปลาร้าอีก แต่เรื่องยังไม่จบ ปลายปี 2565 และปี 2566 กลิ่นเห็นยังเหมือนเดิม แถมด้วยน้ำเสียจากโรงงาน ยังไหลลงไปยังหนองน้ำในที่ดินของชาวบ้าน และส่งกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะหน้าร้อนกลิ่นจะแรงกว่าปกติ ถ้าหน้าฝนกลิ่นจะมีน้อย จึงไปบอกเจ้าของโรงงานใกห้รับรู้เพื่อแก้ไข



ต่อมาต้นปี 2567 เรื่องกลิ่นยังคงส่งกลิ่นเหม็นเหมือนเดิม ซึ่งทราบมาว่าในโรงงานจะทำการต้มน้ำปลาร้าในช่วงเวลา 04.00-09.00 น. และเวลา 16.00-19.00 จะเปิดหม้อเพื่อปรุงรสน้ำปลาร้า เวลา 22.00-24.00 น. เปิดปลาร้าโหน่งเอาไปใส่หม้อต้ม ซึ่งช่วงเวลาที่โรงงานดำเนินการในขั้นตอนต่างๆนั้น จะมีกลิ่นโชยออกมาตามสายลม เหม็นคลุ้งไปทั่ว จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมามีรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ทราบเรื่อง และเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรียกเจ้าของโรงงานผลิตน้ำปลาร้ามาร่วมพูดคุยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยทางจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้โรงงานทั้ง 2 แห่งดำเนินการแก้ไข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาทชนในพื้นที่ โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภออุบลรัตน์ ควบคุมดูแลการแก้ไข



เดือนมิถุนายน 2567 โรงงานแห่งแรก ได้แจ้งมาว่า ทางโรงงานได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 แจ้งมาเช่นกันว่า อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ดำเนินการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน บอกเลยว่า ยังไม่เห็นการแก้ไขที่ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมา เหมือนว่าถูกตำหนิตรงไหน ก็แก้ไขตรงนั้น แต่ไม่มีการแก้ไขทั้งระบบ ถ้าโรงงานจริงใจกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงงาน น่าจะมีการคิดให้รอบคอบมาก่อนจะตั้งโรงงาน แต่นี่ตั้งโรงงานผลินสินค้าออกจำหน่ายจนร่ำรวย ขยายโรงงานเรื่อย แต่ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องกลิ่น



“ที่ผ่านมา 7 ปี ชาวบ้านให้เวลา ให้โอกาสกับโรงงานทั้ง 2 แห่งแก้ไขมาเรื่อย ๆ แต่เหมือนทางโรงงานจะไม่ใส่ใจ เพราะถ้าใส่ใจแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็น ก็คงไม่ต้องเรียกร้อง ร้องเรียนกันยาวนานเช่นนี้ จึงมีความเห็นว่า หากไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมที่ยังยืน ชาวบ้านก็ไม่เอาโรงงาน และขอให้เจ้าของโรงงานย้ายโรงงานไปผลิตน้ำปลาร้าที่อื่น”



ในขณะเดียวกัน นางคำพิง อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 ม.10 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านอีกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของโรงงานที่ทำการต้มน้ำปลาร้าว่า ทนเหม็นกลิ่นปลาร้ามานานหลายปี แจ้งกับผู้นำชุมชน และ อบต.ก็หลายครั้ง แจ้งกับเจ้าของโรงงานก็บ่อย แต่ไม่มีการแก้ไข หนำซ้ำโรงงานแห่งแรก ยังปล่อยน้ำเสียลงในบ่อน้ำ จนไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรได้ และกลิ่นโชยมาตามลม เกาะตามเสื้อผ้า ผิวหนัง ตากผ้าบางวันมีกลิ่นปลาร้า คันตามผิวหนังเป็นผื่น คนมาเยี่ยมบ้านก็คันตามตัวคิดว่าเป็นลมพิษ ได้รับความเดือกร้อนอย่างมาก



และอีกเรื่องที่ไม่ชอบใจคือเรื่องที่เจ้าของโรงงาน เอารายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมหมู่บ้าน ไปปลอมแปลงเป็นการประชุมประชาพิจารณ์ ชาวบ้านลงชื่อเห็นชอบให้เปิดโรงงานได้ ซึ่งในความจริงแล้ว ชาวบ้านที่ลงชื่อนั้น เขาลงชื่อในขณะเข้าร่วมประชุมหมู่บ้าน ไม่ใช่ลงชื่อเห็นชอบให้เปิดโรงงาน จึงมองว่าโรงงานทำไม่ถูกต้อง ในส่วนของโรงงานทั้งสองแห่งที่ติดกันนั้น โรงงานที่สองมีการปรับแก้ไขมาตลอดต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องขอบคุณในความจริงใจที่ดำเนินการให้ชาวบ้าน แต่อีกโรงงานนั้นยังไม่มีการแก้ไขที่ยั่งยืน อ้างแต่ว่าทำถูกต้องทั้งหมด ที่สำคัญโรงงานยังตั้งอยู่บนที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ด้วย ถือเป็นโรงงานเถื่อนเพราะไม่สามารถออกโฉนดได้ ถ้าจะอยู่ร่วมกันก็อยากให้ฟังชาวบ้านและแก้ไขให้เป็นรูปธรรมกว่านี้



“จริงอยู่โรงงานจ้างลูกหลานของชาวบ้านทำงานในโรงงาน แต่เรื่องกลิ่นก็ต้องแยกแยะและจัดการให้มันหายไป เด็กเล็ก คนแก่ เขาร้องเรียนไม่ได้ ก็ต้องทนดมกลิ่นกันในทุกๆวัน จึงอยากให้โรงงานเห็นใจ ช่วยแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็นให้ยั่งยื่นด้วย เราไม่ได้ใจดำว่าไม่ให้อยู่ แต่อยากให้ปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ร่วมกันได้ ถ้าคุณอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้ด้วย ถ้าจะให้ชาวบ้านย้ายออกเพราะโรงงานที่ตั้งทีหลังมันก็ไม่ใช่”



ในเวลาต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานแห่งที่ 1 พบกับลูกชายเจ้าของโรงงาน และผู้จัดการโรงงาน กล่าวว่า โรงงานแก้ไขปัญหาตามคำร้องเรียนของชาวบ้านใสนทุกกรณีเรียบร้อยแล้ว และรายงานไปยัง อบต.บ้านดงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว



ในขณะที่ โรงงานแห่งที่ 2 พบกับนายทัย ใจสะอาด ผู้จัดการโรงงาน พาผู้สื่อข่าวเดินดูจุดที่เป็นบ่อบำบัดนำเสียในโรงงาน ซึ่งมีทั้งหมด 4 บ่อ เป็นบ่อเกรอะ และบ่อน้ำที่ทำการบำบัดที่ได้มีการเลี้ยงปลาในบ่อ และนำน้ำไปรถต้นไม้ได้



นายทัย ยังกล่าวอีกว่า การร้องเรียนของชาวบ้านนั้น มีการร้องเรียนติดต่อกันมาหลายปีแล้ว โรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำการแก้ไขปรับปรุงตลอด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบต้มให้ทันสมัยและไร้กลิ่น การจัดเก็บปลาร้าก็จัดเก็บด้วยถังที่ปิดฝามิดชิด มีวิศวกรมาตรวจควบคุมเรื่องกลิ่น ห้องผลิตน้ำปลาร้าก็จะติดฝ้าและปิดมิดชิดไม่ให้มีกลิ่นออก ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้

คุณอาจสนใจ

Related News