สังคม

จำคุก 2 ปี 6 เดือน กรรมการ บ.เอกอุทัย ไม่รอลงอาญา ฐานครอบครองวัตถุอันตราย อธิบดีกรมโรงงานฯ ยันลุยฟ้องเพิ่ม

โดย panwilai_c

19 ก.ย. 2567

122 views

มีความคืบหน้าสำคัญเกี่ยวกับคดีกากสารเคมีอันตราย ที่ข่าว 3 มิติ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือกรณีการลักลอบครอบครอง และฝังวัตถุอันตรายในพื้นที่โรงงานบริษัทเอกอุทัย จำกัด สาขากลางดง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทและกรรมการบริษัทเอกอุทัย สาขากลางดง และวันนี้ศาลจังหวัดสีคิ้วพิพากษา ตามอัตราโทษสูงสุดของความผิดนี้ ให้จำคุกกรรมการบริษัท 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา และปรับ 2 แสน 5 หมื่นบาท ขณะที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันเดินหน้าฟ้องเพิ่ม ในจุดที่พบการลักลอบฝังสารเคมีในพื้นที่อื่นๆ



ศาลจังหวัดสีคิ้ว พิพากษาจำคุกนางสาววราลี กิจสะอาด กรรมการบริษัทเอกอุทัย สาขากลางดง ในความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย กรณีเจ้าหน้าที่พบการลักลอบฝังกากสารเคมีในพื้นที่ ซึ่งบริษัทเอกอุทัย สาขากลางดงประกอบกิจการอยู่ รวมถึงครอบครองไว้ในโรงเรือนด้วย



โดยศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท โทษจำคุกไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดของความผิด ตาม พ.ร.บ.นี้



นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามฟ้องฐาน ประกอบกิจการโรงงานที่เข้าข่ายเป็นความผิด ฐานครอบครองของเสียเคมีวัตถุประเภทที่ 3 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบการปนเปื้อนของพลวง แคดเมียม ตะกั่ว และซีลีเนียม รวมถึงพบการปนเปื้อนของสารหนูและปรอท ในฐานความผิดนี้ ศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท รวมอัตราโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 2 แสน 5 หมื่นบาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 7 หมื่นบาท



คำพิพากษาส่วนหนึ่งระบุว่า ศาลฯ เห็นว่าบริเวณที่มีการลักลอบฝังกลบสารเคมี เป็นพื้นที่ ที่ไม่มีบุคคลบุคคลอื่นเข้าไปได้ ต้องเข้าบริเวณด้านหน้าโรงงานเท่านั้น คำกล่าวอ้างที่บอกว่าเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ก็เข้าไปได้นั้น ฟังไม่ขึ้น และการกล่าวอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการลักลอบฝังกลบสารเคมีเมื่อปี พ.ศ.2547 ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะพยานฝ่ายโจทก์ ที่มี นายจุลพงษ์ อธิบดีกรมโรงงานฯ นายธนัญชัย ผอ. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคฯ ที่เคย รับราชการอยู่ในช่วงปี 2547 ให้การต่อศาลว่า เป็นพื้นที่ข้างเคียงกัน ไม่ใช่จุดที่ลักลอบฝังกลบในครั้งนี้ ประกอบกับ พยานจากกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ เทศบาลตำบลสีมามงคลที่ส่งเป็นเอกสาร



ศาลฯได้วิเคราะห์จากพยาน หลักฐานแล้ว ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงพิพากษาลงโทษดังกล่าว อธิบดีกรมโรงงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหนึ่งในพยานคดีนี้ ขอบคุณศาลและเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวบรวมเอกสารหลักฐานทุกอย่าง จนนำมาสู่คำพิพากษา และยืนยันว่าผู้ประกอบการลักษณะนี้ มีจำนวนน้อย หากเทียบกับผู้ประกอบการที่ดี แต่ต้องมีมาตรการเด็ดขาดสำหรับคนส่วนน้อยที่กระทำผิด



สำหรับคดีนี้ เริ่มฟ้องเมื่อปี 2564 โดยกรมควบคุมมลพิษ เป็นโจทก์ แต่หลังจากปี 2564 ถึง 2566 ที่พบการกระทำผิดและกรมโรงงานมีหลักฐานเพิ่ม นั้น นายจุลพงษ์ ระบุว่ากรมโรงงานฯจะเดินหน้าฟ้องเอาผิด เพื่อนำมาสู่ความผิดชอบต่อการนำสารเคมีอันตรายไปกำจัดและฟื้นฟูสภาพธรรมชาติด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News