สังคม
'ผู้ว่าฯ ชัชชาติ' เปิดศูนย์ 'BKK Food Bank' ครบ 50 เขต ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบาง
โดย panisa_p
9 ก.ย. 2567
171 views
ธนาคารอาหาร หรือ ศูนย์ BKK food bank เป็น 1 ในนโยบาย กว่า 200 ข้อที่ทีมผู้ว่าชัชชาติกำหนดไว้ โดยเป็นการนำอาหารส่วนเกินมาแบ่งปันให้กับผู้ขาดแคลน ซึ่งผ่านมากว่า 2 ปี ตอนนี้กรุงเทพมหานครสามารถพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank เพื่อส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางได้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม ครบทั้ง 50 เขต ล่าสุด กทม. ได้ใช้ฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 เปิดศูนย์ส่งต่ออาหารแห่งสุดท้ายที่เขตสะพานสูงในวันนี้
สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งของที่ได้รับการบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ส่งมอบเข้าสู่โครงการธนาคารอาหาร หรือ ศูนย์ BKK FOOD Bank ของกรุงเทพมหานคร ตอนนี้มีครบทุกเขตแล้ว ทั้ง 50 เขต เพื่อกระจายทั่วถึงให้กับกลุ่มผู้เปราะบางในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยวันนี้ กทม.ได้เปิด FOOD Bank แห่งสุดท้ายขึ้น ที่สำนักงานเขตสะพานสูง ท่ามกลางประชาชนในโครงการที่ทยอยเข้ารับอาหารและสิ่งของ เพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภค เช่นเดียวกับที่สำนักงานเขตต่างๆ ซึ่งยังมีการรับและส่งต่ออาหารส่วนเกิน จากผู้บริจาคตรงสู่ผู้รับ สัปดาห์ละ 3 วัน ทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ก่อนส่งต่อผู้รับ
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่า กทม. เปิดเผยว่า 2 ปีที่ผ่านมา BKK FOOD bank สามารถส่งต่ออาหารบริจาคได้ 488,314 กิโลกรัม หรือคิดเป็นกว่า 1,868,000 มื้อ ถึงมือผู้รับ 5330 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 23,476 คน กลุ่มที่เข้ารับบริการมากที่สุด ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ ร้อยละ 36 ผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 33 และ เด็กร้อยละ 12 รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ซึ่งโครงการนี้ยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้มากกว่า 1,235,215 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอีกด้วย
ปัจจุบันบัน กทม.มีกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงาน รวมถึงผู้ประสบภัยที่ยังขาดแคลนสิ่งของจำเป็นเหล่านี้อยู่จำนวนมาก ขณะที่ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตกลายเป็นอาหารส่วนเกินที่เหลือทิ้งมากกว่าครึ่งของขยะ ในแต่ละวัน
หญิงคนนี้ คือ 1 ในกลุ่มผู้เปราะบาง เล่าว่า ปัจจุบันเธอเป็น คุณย่า ของหลานวัยเยาว์ 2 คน ที่ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานรับจ้างรายวันเพื่อหาเงินมาดูแลปากท้องของทั้ง 3 ชีวิต หลังต้องสูญเสียลูกชายและสามีไป ซึ่งของจำนวนนี้แม้จะไม่มากนักแต่ก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ของครอบครัวได้ในแต่ละเดือน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.จะใช้ทุกสำนักงานเขตในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในการขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้เปราะบางอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ และจัดทำฐานข้อมูลของใช้จำเป็นตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเชื่อว่าโครงการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนี้จะสำเร็จในระยะยาว
กลุ่มผู้เปราะบางที่อยากเข้าร่วมโครงการก็สามารถติดต่อได้ที่ผู้นำชุมชน หรือ ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเข้าสู่โครงการ ส่วนผู้ประสงค์บริจาคของให้กับ BKK Food bank ก็สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตทุกเขตของ กทม.