สังคม

พิษณุโลกยังวิกฤต รับมือมวลน้ำยม - ชาวนนทบุรี ลุ้นหนัก หวั่นน้ำเจ้าพระยาทะลัก

โดย panwilai_c

29 ส.ค. 2567

105 views

การบริหารจัดการน้ำที่จังหวัดพิษณุโลก ชลประทานจังหวัด รายงานว่า ได้เตรียมพร้อมรับมือน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำยมสายหลัก ที่จะไหลผ่านสูงสุด จาก จ.สุโขทัย คาดว่าปริมาณน้ำสูงสุด จะเข้าสู่พื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.เมือง และ อ.บางระกำ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 สิงหาคม เป็นต้นไป



ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก รายงาน แผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ ว่า จะใช้ 5 มาตราการเร่งด่วน ในการรับมืออุทกภัยแม่น้ำยม คือ เร่งระบายน้ำ /เร่งป้องกัน/ เร่งเก็บเกี่ยว/เร่งรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำโครงการบางระกำโมเดลและเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน



โดยวันนี้ ระดับน้ำแม่น้ำน่าน ท้ายเขื่อนเรศวร ช่วงไหลผ่านตัวเมืองพิษณุโลก ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก สถานี N5A ระดับน้ำอยู่ที่ 5.74เมตร มีน้ำไหลผ่าน 550.20ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำสูงขึ้นจากเมื่อช่วงเช้า ประมาณ 40 เซนติเมตร น้ำไหลผ่านเพิ่มมากขึ้นประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



หลังจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ชั่วคราว ลุ่มน้ำยมน่าน ฉบับที่ 1/2567 พบว่าจากปริมาณฝนตกทำให้มีน้ำท่าไหลลงแม่น้ำและลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมและน่าน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งในบางพื้นที่



ดังนั้นในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับมวลน้ำจากแม่น้ำยม ที่ระบายผ่านคลองยมน่าน เขื่อนนเรศวร อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีความจำเป็นต้องทยอยปรับลดระดับน้ำเหนือเขื่อนนเรศวร ลงประมาฅณวันละ 10 เซนติเมตร จากระดับเก็บกักปกติ +47.80 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ลงมาอยู่ที่ระดับ +46.50 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเลี้ยงปลาในกระชัง รวมถึงผู้ประกอบการริมแม่น้ำ รวมทั้งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ



ส่วน สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนในระดับ 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี



โดยตอนนี้ที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีการเร่งระบายน้ำในทุ่งเชียงรากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากยังมีที่นาบางส่วนในทุ่งเชียงรากที่ยังไม่ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงต้องระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ชาวนาได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน เพื่อเตรียมทุ่งเชียงรากให้เป็นทุ่งรับน้ำ



ที่จังหวัดนนทบุรี เขื่อนป้องกันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำปากคลองบางกรวย ที่พังลงเป็นระยะทางกว่า 75 เมตรตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มาจนถึงตอนนี้ผ่านมา 4 เดือน สภาพเขื่อนที่จมน้ำก็ยังเหมือนเดิมไม่ได้มีการแก้ไข ชาวบ้านต่างกังวลว่ากระแสน้ำเหนือที่กำลังไหลบ่ามาถึงพื้นที่จังหวัดนนทบุรี อาจทำให้น้ำทะลักไหลเข้าพื้นที่ด้านในเขื่อนทำให้ได้รับผลกระทบเดือดร้อน



ตอนนี้มีเพียงแนวเขื่อนดินทดแทนชั่วคราวที่กรมชลประทานสร้างไว้ ด้านในเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ชุมชนและบ้านเรือนของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านยังวิตกกังวลว่ากลัวจะรองรับมวลน้ำที่เพิ่มสูงได้



ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ เข้าสำรวจที่ประตูระบายน้ำบริเวณคลองตาห่วง สิ่งที่ปรับปรุงในโครงการคือจะย้ายไปสร้างประตูระบายน้ำไปชิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้จัดการน้ำได้ดีขึ้น



ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคลองตาห่วงจะดำเนินการดาดท้องคลอง ขุดลอกลงไปให้มีความลึกมากขึ้น ส่วนด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนและแนวกั้นน้ำรั่วซึมได้มีการปรับปรุงและดำเนินการแล้วเสร็จ จุดไหนที่เปราะบางได้ตั้งเครื่องสูบไว้เตรียมพร้อม

ด้านน้ำหนุนก็จะเข้มข้นราวเดือนตุลาคม คาดว่าช่วงนั้นน่าจะหนักหน่วง แต่ทุกสถานการณ์ กทม. พร้อมลุยเต็มที่

คุณอาจสนใจ

Related News