สังคม

แกะรอยเครือข่ายนำเข้า-หลอม อะลูมิเนียมดรอส เชื่อมโยงวัตถุอันตราย 1.5 ตัน นครปฐม

โดย parichat_p

18 ส.ค. 2567

158 views

หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบโกดังเถื่อน ที่จังหวัดนครปฐม เก็บกากอุตสาหกรรมไว้มากกว่า 15,000 ตัน และเกือบทั้งหมดเป็นกากอะลูมิเนียม ดรอส นั้น จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ ได้ขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติม ทำให้เห็นภาพเครือข่ายของกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องชัดเจนมากขึ้น และข่าว 3มิติ ยังพบข้อสงสัยว่ามี 4 บริษัท ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวข้องใกล้ชิด ทั้งทำธุรกิจลักษณะเดียวกันแล้ว และยังตั้งขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน จนสงสัยว่าเป็นกลุ่มทุนเดียวกันหรือไม่


นอกจากคำสารภาพอย่างตรงไปตรงมาของกรรมการบริษัทไท่เป่า อะลูมิเนียม จำกัด จ.สมุทรสาคร ที่ยอมรับว่าเธอรับจ้างหลอมอะลูมิเนียม ดรอส แล้ว คำสารภาพยังชี้เป้าไปที่นาย หลี ชิง ซง คนจีนในเกาหลีใต้ ที่นำอะลูมิเนียมดรอสเหล่านี้เข้าประเทศไทย การตรวจสอบเอกสาร พบหลักฐานที่สอดคล้องกับคำสารภาของเธอ นั้นคือใบตราส่งสินค้า หรือ BL ที่ใช้ส่งสินค้าจากเกาหลีใต้ มาไทยใบตราส่งสินค้า หรือ BLเอกสารฉบับนี้ ลงวันที่ 10 มีนาคม 2567 จากบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนถนนแทฮับซันอบดันจีโร (dahapsaneopdanji-ro) เมือง ชาง ยองกุน จังหวัดคยองซังนัมโด สินค้าที่สำแดงคือ Aluminiam Powder น้ำหนักรวม 460,260 กิโลกรัม ส่งจากท่าเรือ Kwangyang ขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี



บริษัทในประเทศไทยที่เป็นผู้รับสินค้านี้ เป็นผู้ประกอบกิจการหลอมอะลูนิเนียมรายหนึ่ง.. สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดในภาคตะวันออก


อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบหลักฐานว่าโรงงานในภาคตะวันออกนี้ เชื่อมโยงไปถึงโรงงานอื่นในประเทศไทยอย่างไรบ้าง แต่เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เมื่ออะลูมิเนียมดรอส ที่สำแดงในการนำเข้าว่า อะลูมิเนียม พาวเดอร์ ถูกส่งขึ้นฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบังแล้ว น่าจะถูกลำเลียงไปเก็บในโกดังแห่งใดแห่งหนึ่ง จากนั้นทะยอยส่งไปให้โรงงานหลอม รวมถึงที่โรงงานเถื่อน จ.นครปฐม เพื่อหลอมเป็นอลูมิเนียมอินกอต


กระทั่งเป็นตามคำสารภาพว่า เมื่อโรงงานเถื่อนที่นครปฐมหลอมไม่ทัน นายหลี ชิง ซง ชาวจีน ซึ่งถูกพาดพิงว่าเป็นผู้นำเข้าจากเกาหลีใต้ จึงว่าจ้างให้โรงงานที่สมุทรสาคร อย่างน้อย 2 แห่ง หลอมแทน


ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบจากข้อมูลของบริษัท ที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบข้อมูลเชื่อมโยงกัน 6 บริษัท แต่มี 4 บริษัทที่มีเบาะแสเชื่อมโยงใกล้ชิด และแต่ข่าว 3 มิติ เห็นว่ายังจำเป็นที่ต้องปกปิดชื่อไว้ก่อน


อย่างไรก็ตาม การตรวสอบข้อมูลพื้นฐานและงบการเงินของกลุ่มบริษัทนี้ คล้ายกันมากคือเจ้าของเป็นคนจีน หรือไม่ก็คนไทยที่เป็นภรรยาคนจีน อายุการตั้งบริษัทไม่ห่างกันมาก คือระยะประมาณ 2 ปี ลักษณะธุรกิจคล้ายๆกันคือ หลอม หล่อโลหะ อะลูมิเนียม บางบริษัทได้ใบอนุญาตประเภท 60 คือหลอมแร่โดยตรง บางบริษัท ได้ใบอนุญาตประเภท 106 คือรีไซเคิล


ที่สำคัญคือ เมื่ออ่านงบการเงินของทั้ง 4 บริษัทนี้ พบว่าต้นทุนดำเนินงาน และต้นทุนการขาย สูงมาก เรียกว่าสูงกว่ารายได้หรือยอดขายที่บริษัทได้รับในแต่ละปีด้วยซ้ำ เรียกว่าอยู่ในภาวะขาดทุนด้วยซ้ำ


ข้อเท็จจริงนี้ แม้แต่บริษัทไท่เป่าก็ยอมรับเช่นนั้นว่า การที่บริษัทยอมรับจ้างหลอมหล่ออลูมิเนียมแท่ง ได้กิโลกรัมละ 3 บาท แต่รายได้นี้ยังไม่นำไปหักค่าใช้จ่าย ที่ต้องนำกากอะลูมิเนียมดรอสไปกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งกากอะลูมิเนียมดรอส มีค่ากำจัดที่ถูกต้อง แพงไม่น้อยไปกว่าค่าหลอม และตอนนี้กากที่เกิดจากการหลอมของบริษัท ไท่เป่า ก็ยังตกค้างอยู่ในโรงานนี้


ข้อมูลการประกอบธุรกิจที่ข่าว 3มิติพบ และข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบการเปิดเผย ถือว่าน่ากังวลต่อปัญหา เพราะกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีรายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่ายที่จะนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างถุกต้องนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกลักลอบนำไปทิ้ง เพื่อตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่จะสร้างปัญหาให้ชุมชน สิ่งแวดล้อม และงบประมาณของรัฐ เหมือนปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้

คุณอาจสนใจ