สังคม

DSI ส่งสำนวนคดี 'หมูเถื่อน' ให้ป.ป.ช.เพิ่ม หลังพบหลักฐานจนท.รัฐเอี่ยว

โดย panwilai_c

6 ส.ค. 2567

149 views

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช กรณีถูกกล่าวหาว่าลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติมวันนี้ หลังพบหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วย โดยข่าว 3 มิติตรวจสอบพบว่าเป็นเจ้าหน้าทีรัฐสังกัดกรมประมง และกรมศุลกากร กรณีตรวจปล่อยหมูเถื่อนที่สำแดงเท็จว่าเป็นปลาแช่แข็ง



พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นให้ส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 102/2566 กรณีขบวนการลักลอบนำสินค้าประเภทซากสัตว์ หรือหมูเถื่อน เข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ไปให้สำนักงาน ป.ป.ช.พิจารณา ตามมติของที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ที่มีพันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน



คดีนี้ พนักงานดีเอสไอพบหลักฐาน น่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ร่วมตรวจปล่อยตู้สินค้าที่ออกไปแล้ว อาจเข้าข่ายกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.



ก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษเกี่ยวกับ กรณีมีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ หรือหมูเถื่อน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. แล้วจำนวน 7 คดี



ได้แก่ คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 คดีพิเศษที่ 104/2566 คดีพิเศษที่ 105/2566 คดีพิเศษที่ 106/2566 คดีพิเศษที่ 108/2566 และ คดีพิเศษที่ 109/2566



สำหรับคดีพิเศษที่ 102/2566 นี้ สืบเนื่อจากดีเอสไอ นำหมายค้นไปค้นสำนักงานและร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีสองพ่อลูกเป็นกรรมการบริษัท 2 แห่งคือกันตา ไทยโพรเซ่นฟิช และสมายทอปเค เอนเตอร์ไพรส์ โดยพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปยังดีลเลอร์ หรือเอเย่นที่ให้นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมกับการสำแดงเท็จหลายรายการ ต่อมาดีเอสไอ สืบสวนพบว่า นอกจากได้ร่วมกันนำเข้าในกลุ่ม 161 ตู้แล้ว ยังพบว่า เคยนำเข้ามาแล้ว 44 ตู้ คอนเทนเนอร์ แต่อ้างว่าเป็นปลาโดยนำไปเก็บที่แห้งเย็นแห่งหนึ่งที่สมุทรสาคร



เมื่อดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบห้องเย็นนั้นก็พบว่า ไม่เคยมีการนำมาเก็บไว้ในห้องเย็นดังกล่าว เป็นแต่เพียงการแอบอ้างอ้างเท่า



เมื่อสืบสวนเชิงลึกก็พบว่า ได้นำสินค้าที่แอบอ้างว่าเป็นปลาเช่นปลาเฮค ปลาแซลม่อนเป็นต้นไปเก็บในห้องเย็นอีกแห่งในจังหวัดสมุทรสคร ดีเอสไอตามไปจนพบว่ามีการฝากเก็บจริง คราวนี้แจงว่าเป็นเนื้อสุกรจริงและเบิกไปจำหน่ายแล้วด้วย



อย่างไรก็ตามในการนำเข้าหมูเถื่อนทั้ง 44 ตู้ และสำแดงสินค้าขาเข้าว่าเป็นอาหารทะเลแช่แข็งนั้น นอกจากนี้ มีเอกชนเกี่ยวข้อง 5 รายแล้ว ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ ในสังกัดกรมประมงและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ร่วมกันตรวจปล่อยและลงนามไว้แล้ว จึงเป็นหลักฐานให้ดีเอสไอเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็น จึงส่งสำนวนพร้อมหลักฐาน ให้ ป.ป.ช.



ในความผิดฐานพยายามนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้าประเทศ โดยผิดกฎหมายตาม พรบ.ศุลกากร และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งผิด พรบ.โรคระบาดสัตว์ กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 ต่อเนื่องกัน



สำหรับการลักลอบนำเข้ามาอีก 2388 ตู้ และเชื่อว่านำไปจำหน่ายสู้ผู้บริโภคแล้ว โดยดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 126/2566 นั้น ดีเอสไอ ได้ขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทางแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเข้าสำนวนคดี

คุณอาจสนใจ