สังคม
ถอดบทเรียน สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เหตุไม่ทำ EIA
โดย panwilai_c
14 ต.ค. 2566
940 views
จากรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชั่น กรุงเทพมหานคร เนื่องจากการก่อสร้างสะพานยังไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะคลองแห่งนี้เป็นโบราณสถาน จึงต้องมีการขออนุญาตจากกรมศิลปากรก่อนเริ่มก่อสร้างด้วย
เรื่องนี้ทำให้เกิดความเสียหายทั้งงบประมาณที่ก่อสร้างจนเสร็จแล้ว และ ความกังวลของชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนในการระบุสถานที่สาธารณะที่เป็นโบราณสถาน ล่าสุดข่าว 3 มิติ ได้ถอดบทเรียนกรณีนี้ร่วมกับ กทม. และ กรมศิลปากร เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาลักษณะนี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลำดับเหตุการณ์การขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ที่บริษัทเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ ได้รับอนุญาตถูกต้องตามขั้นตอนทั้ง 3 ฉบับตั้งแต่ปี 2561 ทั้งในส่วนขอใบอนุญาตที่ออกโดยกรุงเทพมหานครและองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ และผ่านความเห็นชอบจากกรมชลประทาน ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่
โดยตามเงื่อนไขเมื่อสร้างเสร็จทางแห่งนี้ต้องเป็นทางสาธารณะ จนกระทั่งมีการฟ้องร้องจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในปี 2563 และ ชนะคดีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566
เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตทุกใบในการก่อสร้างสะพานย้อนหลังทุกฉบับ โดยให้เหตุผลว่าสะพานแห่งนี้เป็นทางหลวง หากตัดผ่านพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ซึ่งถือว่าเข้าข่ายนิยามของโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตร ก็จำเป็นต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อขออนุญาตจากกรมศิลปากรก่อน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีความชัดเจนในการประกาศหรือขึ้นทะเบียนให้คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถาน ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายปิดปากทำให้ไม่มีหน่วยงานใดทราบข้อมูลดังกล่าว จึงเกิดเป็นอำนาจหน้าที่ทับซ้อน ดังนั้นจึงควรประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่โบราณสถานให้ชัดเจน เนื่องจากยังมีพื้นที่ลักษณะนี้อีกหลายแห่งทั่วกรุงเทพมหานคร
ข่าว 3 มิติ สำรวจพื้นที่การก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ พบว่าสะพานแห่งนี้เชื่อมถนนระหว่างเขตคลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร กับ อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี โดยฝั่งเขตตลิ่งชันเป็นชุมชนวัดชัยพฤกษมาลา และ ฝั่งอำเภอบางกรวย
เป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ของเอกชนรวมกันหลายโครงการ ชุมชนทั้ง 2 ฝั่งสามารถใช้สัญจรระหว่างถนนบรมราชชนนี กับ ถนนราชพฤกษได้ จากเดิมที่ต้องย้อนออกไปยังเส้นทางหลัก เพื่อใช้เส้นทางถนนราชพฤกษ์หรือถนนสิรินธร
โดยทีมข่าวพบว่า เดิมทีชุมชนละแวกนี้มีสะพานคนเดินข้ามคลองอยู่แล้วซึ่งความสูงก็ใกล้เคียงกับสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ที่มีปัญหา และอยู่ถัดมาบริเวณใกล้ปากคลอง ซึ่งมักมีเรือท่องเที่ยวสัญจรเข้ามาอยู่แล้ว
นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ตามปกติแล้วพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ระบุว่าสิ่งใดที่เป็นโบราณสถานทางกรมศิลปากรไม่จำเป็นต้องประกาศหรือต้องแจ้งเจ้าของ ยกเว้นการขึ้นทะเบียนที่จะต้องแจ้งผ่านราชกิจจานุเบกษา จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่หน่วยงานทั่วไปจะทราบได้ ดังนั้นทางกรมศิลปากรจะเริ่มตรวจสอบและทยอยประกาศโบราณสถานให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ล่าสุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งการให้ทุกหน่วยงานของกทม.ตรวจสอบโครงการในอดีตที่เคยเกิดปัญหาด้านการตีความ เพื่อป้องกันปัญหาเดิมที่อาจเกิดซ้ำ
อย่างไรก็ตามทั้งกทม.และกรมศิลปากร ยังไม่ได้หารือการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน โดยทางกรมศิลปากรก็ยืนยันว่าจะไม่มีคำสั่งรื้อถอนสะพานแห่งนี้ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจ ประชาชนจึงใช้สัญจรไปมาได้ต่อไป แต่บริษัทผู้ก่อสร้างยังต้องถูกดำเนินคดีตามเดิม ส่วนกทม.ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางสูงสุด ให้มีคำวินิจฉัยในส่วนข้อกฎหมายที่ศาลปกครองกลางไม่ได้นำมาพิจารณา เพื่อความชัดเจนในการตีความ และเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป