สังคม

ถอดบทเรียนความรุนแรงในเด็ก 'เกม' เป็นปัจจัยหนึ่งหรือไม่?

โดย panwilai_c

4 ต.ค. 2566

94 views

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุล้วนมีจุดเริ่มต้นของแรงจูงใจจากปัญหาเล็กๆ หลายปัญหา ที่สะสมเรื่อยมา ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและเด็ก ยืนยันตรงกันว่าเกมไม่ได้มีส่วนทำให้ผู้เล่นใช้ความรุนแรง แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้ก่อเหตุได้ โดยกุมารแพทย์ ก็ได้วิเคราะห์และจำแนกพฤติกรรมของคนเล่นเกม ติดเกมและเสพติดเกม จะแสดงออกมาต่างกัน



ดร.นายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับข่าว 3 มิติ ถึงแนวโน้มความรุนแรงที่เกิดบ่อยขึ้นในสังคมไทยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่อาจส่งผลกระทบกับคนในหลายกลุ่ม โดยมีปัจจัยทางกายภาพ สภาพจิตใจ และสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้บุคคลใช้ความรุนแรงได้



บ่อยครั้งผู้คนจึงมักพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมใด พฤติกรรมหนึ่ง เพื่อให้สิ่งนั้นเป็นต้นเหตุในความรุนแรงที่เกิดขึ้น



โดย โฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ยกตัวอย่างของการเล่นเกม ที่มักตกเป็นจำเลยแรกแทบทุกครั้ง ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยด้านพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดจากการเล่นเกม ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงนักวิจัย และยังไม่มีเหตุผลเพียงพอมาสนับสนุน เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถชี้ชัดได้เพียงสิ่งเดียว เพราะหากสอบประวัติของผู้ก่อเหตุแล้วก็จะพบปัจจัยอื่นแวดล้อมร่วมด้วยทุกครั้ง



รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ได้นิยามคำว่าผู้ที่ชอบการเล่นเกมไว้ 2 นัยยะ คือ ผู้ที่ติดเกม และ ผู้ที่เสพติดเกม ซึ่งมีความต่างกัน โดยผู้ที่ติดเกม คือ ผู้ที่ชื่นชอบเล่นเกม แต่ผู้เสพติดเกม คือ ผู้ที่เล่นจริงจังจนกระทั่งไม่ทำสิ่งอื่นใด จนเกิดความกระวนกระวายและมีอารมณ์ฉุนเฉียว หากไม่ได้เล่น



ขณะที่เล่นก็จะมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้สมองหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมา และเมื่อเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานย่อมส่งผลต่อสุขภาพอารมณ์ได้



ขณะที่ค่านิยมการแข่งขันทางการศึกษา เป็นปัจจัยความเครียดลำดับแรกของเด็กในวัยช่วงวัยรุ่น ซึ่งมักถูกคาดหวังจากครอบครัว และ ระบบของโรงเรียน ทำให้เกิดสังคมการศึกษาระบบแพ้คัดออก ตั้งแต่ช่วงประถมศึกษาจนกระทั่งจบระดับชั้นอุดมศึกษา



รศ.นพ.สุริยเดว จึงแนะนำให้ทุกคนหมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้างอยู่เป็นประจำ ขณะที่ผู้ปกครองไม่ควรเป็นผู้กระทำความรุนแรงหรือแสดงความคาดหวังในตัวเด็กจนสร้างความกดดันให้กับพวกเขา แต่หากพบพฤติกรรมที่เกินรับมือก็ควรปรึกษาแพทย์ในทันที

คุณอาจสนใจ

Related News