สังคม

'บิ๊กโจ๊ก' พา 49 ชีวิตถูกหลอกทำงานในกัมพูชา กลับฝั่งไทยเพิ่ม เดินหน้ากวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์

โดย pattraporn_a

4 ม.ค. 2565

39 views

การขยายผลแก๊งคอลเซนเตอร์ และแก๊งเงินกู้ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีรายงานว่าตำรวจไซเบอร์กำลังตามแกะรอย พร้อมกับเตือนคนไทยระวังตกเป็นเหยื่อจากขบวนการนี้ ส่วนที่ชายแดนอรัญประเทศ วันนี้มีคนไทยที่โดนหลอกและถูกบังคับใช้แรงงาน เดินทางกลับถึงฝั่งไทยเพิ่มอีก 49 คน


พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของไทย เดินทางบริเวณด่านพรมแดนคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อรับตัวคนไทยที่ถูกหลอกเข้าไปทำงานในประเทศกัมพูชา โดยมีคณะเจ้าหน้าที่ฝั่งกัมพูชาเป็นผู้นำพาคนไทยจำนวน 49 คน ข้ามมาส่งที่ด่านพรมแดน การช่วยเหลือครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ทำให้จนถึงขณะนี้มียอดคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ไม่น้อยกว่า 500 คน


หญิงชาวบุรีรัมย์คนหนึ่ง เธอเป็นแม่ของลูกสาววัย 25 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไทยที่ถูกหลอก ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือลูกสาวกับเพื่อนกลับมาได้ เธอเปิดใจว่า เคยบอกเตือนลูกสาวแล้ว แต่เนื่องจากตกงานไม่มีรายได้ทำให้ต้องดิ้นรนหางาน จนกระทั่งมาเจอประกาศทาง Facebook ต้องการหาคนไปทำงานในกัมพูชา อ้างให้เงินเดือนสูง แต่พอไปถึง กลุ่มนายจ้างที่เป็นคนจีน กลับข่มขู่-บังคับให้ทำงานเป็นแอดมินในแก๊งคอลเซนเตอร์ ถ้าไม่ทำจะถูกขังและทำร้าย จึงฝากอยากฝากแจ้งเตือนคนไทยที่กำลังมีแผนจะเดินทางไป ควรคิดให้รอบคอบ


ด้าน พล.ต.ท.สรุเชษฐ์ หักพาล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานทุกฝ่ายในประเทศไทยและกัมพูชา เข้ากวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สืบจนรู้ถึงกลุ่มเครื่อข่ายแล้ว คาดว่าไม่เกินสองสัปดาห์จะออกหมายจับเพิ่ม


ขณะที่ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตำรวจเข้าไปรวบรวมหลักฐานและข้อมูล คืบหน้าไปมากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว และพอจะระบุต้นทางของผู้ก่อเหตุได้แล้ว รวมถึงการประสานกับธนาคารเพื่อติดต่อไปยังบัญชีปลายทาง ซึ่งเป็นบัญชีม้า


จากข้อมูลพบว่า มีบัญชีไลน์ที่เกี่ยวข้อง 3 บัญชี โดยบัญชีแรกใช้ชื่อว่า เฮียอั๋นฝั่งธน บัญชีชื่อ ฝ่ายจัดการบัญชี และ บัญชีชื่อฝ่ายทดสอบ ซึ่งตอนนี่ได้มีการถอดรหัสไอพีแอดเดรสและอีมี่โทรศัพท์แล้ว คาดว่าจะได้ตัวเร็วๆนี้


ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่มีผู้ให้บริการสินเชื่อหรือเงินกู้รายใด ที่จะให้โอนเงินไปก่อน จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จนถึง 31 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียหายที่ร้องเรียนกับตำรวจไซเบอร์ เกี่ยวกับแอพลิเคชั่นเงินกู้ เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราและบังคับข่มขู่คุกคามเพื่อการทวงหนี้ จำนวน 86 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 10.9 ล้านบาท


ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส บอกว่า ในปี 2565 จะต้องปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการหลอกลวงในโลกออนไลน์เป็นปัญหาใหญ่ และระบบการสื่อสาร ทั้ง sms และโซเชียลมีเดียนั้นเป็นระบบเปิด เมื่อปิดกั้นแล้วก็ยังเปิดช่องทางใหม่ได้ ทำให้มีมิจฉาชีพเกิดขึ้นจำนวนมาก


โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวง ดีอีเอส และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อทะลายแหล่งกบดาน จับกุมดำเนินคดี แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ในต่างแดน เพราะกลุ่มมาเฟียเหล่านี้ ตั้งใจหลอกลวงหาผลประโยชน์กับคนไทย จึงขอเตือนให้ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ โจทย์ใหญ่ต่อไปก็ คือการแก้ปัญหาบัญชีม้า หรือการจ้างเปิดบัญชีรับโอนเงินจากมิจฉาชีพ ที่จะต้องไม่ให้มีในระบบการเงินอีกต่อไป เพราะเป็นต้นตอของการทำผิด ดังนั้นจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพิ่มความผิดกับคนที่รับเปิดบัญชีม้า ให้มีบทลงโทษที่หนักขึ้น




คุณอาจสนใจ

Related News