เลือกตั้งและการเมือง

ฝ่ายค้านเตือนรบ. ระวังเมียนมานำเรื่องขออภัยโทษ 4 ลูกเรือ อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน 'ภูมิธรรม' ปัดตอบ หวั่นบานปลาย

โดย passamon_a

18 ธ.ค. 2567

178 views

วิโรจน์ เตือนรัฐบาล ขออภัยโทษ 4 ลูกเรือไทย ระวังเมียนมาอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน - โรม ซัดท่าทีรัฐบาลไทยสะท้อนความอ่อนแอ - ภูมิธรรม คาดปล่อยตัว 4 ม.ค.68


เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา จนมีการจับกุมลูกเรือประมงไทย 4 ชีวิต ไปควบคุมตัวไว้ที่เกาะสอง จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 ทราบว่าจุดเกิดเหตุห่างจากเกาะพยามด้านทิศตะวันตกประมาณ 5 ไมล์ทะเล ขณะที่เกาะพยาม กับเกาะย่านเชือก ห่างกันไม่ถึง 8 ไมล์ทะเล โดยพื้นที่เส้นเขตแดนของ 2 ประเทศทับกันอยู่บางส่วน ซึ่งเรียกว่าพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน


นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ล่าสุด คือศาลเมียนมาได้มีคำพิพากษาจำคุกลูกเรือประมงไทย ทั้ง 4 คน โดยตัดสินจำคุกเจ้าของเรือ เป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาลักลอบทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุก 6 ปี ปรับเป็นเงิน 2 แสนจ๊าด ส่วนลูกเรือไทยอีก 3 คน สั่งจำคุกคนละ 3 ปี ในข้อหาทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 3 หมื่นจ๊าด ซึ่งไม่ได้เป็นการพิพากษาให้เนรเทศออกนอกประเทศ ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมที่รวบรัดตัดตอนอย่างมาก ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 วัน ก็พิพากษาคดีแล้ว ก็ต้องถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย และทนายความแก่ลูกเรือประมงไทยอย่างเพียงพอเหมาะสมหรือไม่


นายวิโรจน์ กล่าวว่า นับจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องตื่นตัว และเร่งดำเนินการอย่างด่วนที่สุดก็คือ การประสานเข้าให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าลูกเรือประมงไทยจะได้รับความเป็นธรรมต่อกรณีนี้ พร้อมกับเร่งประสานทำความเข้าใจกับครอบครัว และญาติพี่น้องของลูกเรือประมงไทย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียขวัญกำลังใจ และเพื่อให้คนไทยทุกคนมีความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยจะไม่ทอดทิ้งลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 ชีวิต อย่างแน่นอน รวมทั้งควรประสานให้ครอบครัวของลูกเรือประมงไทยได้เข้าเยี่ยมที่เกาะสอง เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 ชีวิต ยังมีสวัสดิภาพที่ดี


"ล่าสุดทราบว่า นายกรัฐมนตรีเตรียมดำเนินการขออภัยโทษให้กับลูกเรือประมง ทั้ง 4 คน จากประเทศเมียนมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และระมัดระวังอย่างมาก หากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หากเนื้อหาในหนังสือขออภัยโทษ มีประโยคใดประโยคหนึ่ง ที่เข้าข่ายยอมรับว่าเรือประมงไทยได้รุกล้ำน่านน้ำของเมียนมา ก็จะทำให้ในอนาคตเมียนมาจะให้การขออภัยโทษในครั้งนี้ มากล่าวอ้างได้ว่ารัฐบาลไทยยอมรับว่าพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนั้น เป็นน่านน้ำของเมียนมา และจะส่งผลกระทบอย่างมากในเรื่องเขตแดน การทำประมง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และใต้ทะเล ของประเทศไทยในอนาคต ในการประชุม กมธ.ทหาร ในสัปดาห์นี้ ผมจะเร่งทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ให้ทราบถึงข้อห่วงใยนี้โดยเร็วที่สุด" นายวิโรจน์ กล่าว


ด้าน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลเมียนมาสั่งดำเนินคดี 4 ลูกเรือประมงชาวไทย และจะมีการปล่อยตัวหลังปีใหม่ ว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า และเป็นเรื่องที่ตนมีความรู้สึกว่า ครอบครัวของคนที่รออยู่คงจะตั้งคำถามว่า ทางรัฐบาลไทยได้ทำอะไรกับเรื่องนี้ ซึ่งจากข้อมูลที่พูดคุยกับหน่วยงาน ตามกลไกของกรรมาธิการความมั่นคงฯ ก็รับทราบว่า มีหน่วยงานเข้าไปเยี่ยมลูกเรือชาวไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าว ตนไม่ได้ติดใจ แต่สิ่งที่อยากได้ความชัดเจนคือ ตกลงแล้วลูกเรือชาวไทยจะได้กลับประเทศไทยเมื่อไหร่ ซึ่งก็ยังไม่ได้รับข้อมูลตรงนี้ และยังไม่ได้รับข้อมูล แม้แต่วีธีการพูดคุยเจรจาหาทางออก และแน่นอนว่าสุดท้ายความชัดเจนที่บอกว่า หลังปีใหม่จะคือเมื่อไหร่


นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ยังไม่เห็นคือ การใช้ความรุนแรงของกองทัพเรือเมียนมาต่อเรือประมง ที่ตนมองว่า เกินความเหมาะสม ความจำเป็นไปมาก แล้วตกลงไทยจะไม่มีท่าทีอะไรเลยหรือไม่ เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยอยากเห็น แต่ตนไม่ได้หมายความว่า วันพรุ่งนี้ไทยจะต้องส่งกองทัพไปยิงคืน แต่มีวิธีการแสดงท่าทีหลายอย่างที่สามารถจะยกระดับแสดงให้เห็นว่า ไทยนั้นไม่พอใจ


"อย่างการเชิญทูตเมียนมา และอ่านเป็นบันทึกให้เขาฟัง ซึ่งระดับของมันคือ การแสดงความกังวล มันน้อยมาก มันควรจะแสดงท่าทีที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประท้วง ที่อาจจะต้องมีการแสดงท่าทีออกมา แต่ก็ไม่เห็นจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลของเรา ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมาก ๆ ว่า รัฐบาลนี้อ่อนแอ แล้วไม่สามารถสร้างความรู้สึกให้กับพี่น้องชาวไทย ได้รับรู้รับทราบว่า เขาจะปลอดภัย" นายรังสิมันต์ กล่าว


นานรังสิมันต์ ระบุว่า น่านน้ำมันไม่มีหลักหมุดที่ชัดเจน และบางครั้งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งปลาที่ว่ายอยู่ก็ไม่ได้สนใจว่า อยู่ในเขตประเทศไหน ส่วนเรือประมงก็พยายามจับปลา เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยต่อประชาชน ในการที่จะทำมาหากินต่อไป สิ่งนี้ก็คงเป็นเครื่องหมายคำถามต่อรัฐบาลไทยต่อไปว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร แล้วตกลงว่าเรื่องของคนไทย 4 คน ทำได้แค่นี้ใช่หรือไม่


ส่วนที่รัฐบาลชี้แจงว่า เป็นวีธีการทางการทูต นายรังสิมันต์ มองว่า วิธีการทางการทูตไม่จำเป็นต้องทำแค่นี้ แล้วตนคิดว่ารัฐบาลไทยนั้นทำได้มากกว่านี้ และทำให้คนไทยรู้สึกว่า ปลอดภัยกว่านี้ โดยเฉพาะความเสียหายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้ที่ถูกยิงแฉลบศีรษะใครรับผิดชอบ รวมทั้งมาตรการการช่วยเหลือ จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องการความชัดเจนมากกว่านี้


เมื่อถามว่า การดำเนินคดีกับลูกเรือประมง เป็นขั้นตอนปกติ แต่สามารถขออภัยโทษได้ทีหลัง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การตัดสินให้ใครมีความผิดนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องการต่อสู้คดีนั้นเป็นไปอย่างเต็มที่หรือไม่ และเป็นการต่อสู้ที่อยู่บนพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ รวมทั้งทางการไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางทนายความมากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งตอนที่กรรมาธิการความมั่นคงฯ ถามหน่วยงานราชการ และกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้พูดถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านทนายความ และทางคดีเลย สะท้อนเห็นว่าไม่มีความชัดเจนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย


"สิ่งที่ผมกำลังตั้งคำถามคือ รัฐบาลจะมอบความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ที่เขาทำมาหากิน เขาทำมาหากิน เขามีรายได้ และเขาก็เสียภาษี ตกลงแล้วรัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนเลยใช่ไหม นี่คือคำถามที่ประชาชนเขาอยากจะรู้ เราใช้เงินงบประมาณหลายส่วนไปกับเรื่องความมั่นคง วันนี้ประชาชนกำลังทวงถามว่า ความมั่นคงของเขา ที่ต้องจ่ายเป็นเงินภาษี ตกลงแล้วจะตอบแทนให้เขาในรูปแบบไหน ผมไม่ได้หมายความว่า เราต้องไปโจมตีด้วยการทิ้งระเบิด แต่มีกระบวนการหลายอย่างที่สามารถทำได้ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เขาได้แสดงออกถึงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะที่นี่ไม่ใช่น่านน้ำโซมาเลีย ที่จะมีเรือโจรสลัดติดอาวุธรุนแรง แต่นี่เห็นชัดเจนแล้วว่า เป็นเรือประมง" นายรังสิมันต์ กล่าว


ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือ 4 ชาวประมงไทยในเมียนมา ว่า ขณะนี้ถูกควบคุมตัว และได้ดำเนินการโดยท้องถิ่นเมียนมา ที่เกาะสอง ซึ่งโทษที่ได้รับเป็นโทษที่ต่ำสุด เพราะมีประเด็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของเมียนมาให้ครบถ้วน จากการประสานงานเบื้องต้นคิดว่าวันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นวันชาติของเมียนมา จะปล่อยตัว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานตั้งแต่ต้นอยู่ตลอดอยู่แล้ว และสถานเอกอัครราชทูตไทยทประจำเมียนมา ก็ได้รายงานข้อมูลให้รับทราบอยู่แล้ว


ส่วนกระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยกันถึงข้อสรุปเรื่องการรุกล้ำหรือไม่ และจำเป็นต้องหาคนไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขอให้ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากฝ่ายคนไทยอยู่ในมือของเมียนมา ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือต้องการเอาคนไทยออกมาก่อน ถ้าพูดอะไรมากไปมากกว่านี้อาจจะมีผลต่อการกลับมา จึงไม่อยากตอบคำถามต่าง ๆ แต่หากกลับมาเรียบร้อยแล้วความชัดเจนจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกที คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ถ้ายิ่งตอบบานปลายไปก็จะเกิดประทบกับหลายเรื่อง และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองในประเทศด้วย ขอห่วงชีวิตคนไทยก่อน


สำหรับการปล่อยตัวจะเป็นในรูปแบบอภัยโทษหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็แล้วแต่กระบวนการ เพราะไม่อยากพูดถึงในรายละเอียดที่ได้พูดคุยกัน แต่ขอให้คนไทยออกมาก่อน


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/6PMju_mckMU

คุณอาจสนใจ