เลือกตั้งและการเมือง
สภากทม. มีมติเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบ วาระเร่งด่วน จัดทำงบฯ จ่ายเพิ่มเติมปี 68 จ่ายหนี้ BTS 1.4 หมื่นล้าน
โดย kanyapak_w
6 ชั่วโมงที่แล้ว
65 views
สภากรุงเทพมหานคร มีมติเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบ วาระเร่งด่วน จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2568 กรณีเบิกงบจ่ายหนี้ BTS 14,000 ล้านบาท หลังศาลปกครองมีคำสั่ง ให้ชำระหนี้ภายใน 180 วัน
ที่ สภากรุงเทพมหานครมีการเปิดประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม ประจำปีพุทธศักราช 2567 เพื่อพิจารณาญัตติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2568 โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนแรกให้กับ บีทีเอส ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎา 2567 ให้จ่ายหนี้เป็นเงินต้น 11,755 ล้านบาท
และส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือน พ.ค. 2562 - พ.ค.2564 โดยในที่ประชุม นี่มติเป็นเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบในการตั้ง คณะกรรมการพิจารณาเบิกจ่าย งบประมาณดังกล่าว
ซึ่งบรรยากาศในการประชุมพิจารณาญัตติดังกล่าวสมาชิกสภา กทม. ได้ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายและโต้แย้ง ทั้งในเรื่อง การชี้มูลความผิดของ ปปช. และคำพิพากษาของศาลปกครองที่ถือว่าสิ้นสุดแล้ว รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยรายวันกว่า 2.7 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายสนับสนุนให้ กทม. เร่งชำระหนี้ เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากดำเนินการล่าช้าเกรงว่าจะมีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
ภายหลังการประชุม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุ การตั้งงบประมาณเบิกจ่ายเพิ่มเติมเพื่อชำระหนี้รถไฟรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นไปตามขั้นตอนที่มีการพิจารณาร่วมกันของหลายฝ่ายไม่ได้เร่งดำเนินการเพราะกังวลเรื่องดอกเบี้ยค่าปรับแต่อย่างได้ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีเงินสะสมอยู่ ประมาณ 50,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการใช้หนี้ โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียดคาดว่าจะสามารถอนุมัติชำระหนี้ได้ก่อนสิ้นปี 2567 จากเดิมที่คำพิพากษาระบุว่าจะต้องชำระหนี้ก่อนวันที่ 21 มกราคม 2568 และเชื่อว่าการชำระหนี้ก้อนนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี จากการที่เอกชนได้นำเงินไปดำเนินธุรกิจต่อ
หลังจากนี้สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อคือยอดมูลค่าหนี้อีก 3 ส่วน คือ ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ให้กทม. และเคที ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 2. ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท และ 3. ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585 ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ทั้งหมดต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่ ไม่ให้เกิดข้อฟ้องร้องหรือเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก
อีกประเด็นคือกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหลัก สายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุชและสายสีสม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานโครงการ ซึ่งเริ่มให้บริการเดินรถตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2542 ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 4 ธ.ค.2572 ก่อนจะโอนย้ายมาให้กรุงเทพมหานคร ดูแล ทั้งรายได้/การให้บริการ/การซ่อมบำรุง
ทางกรุงเทพมหานครได้พิจารณาตั้งงบประมาณปี 2568 วงเงินประมาณ 27 ล้านบาท สำหรับว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังหมดสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
แท็กที่เกี่ยวข้อง ข่าวการเมือง ,สภากทม. ,หนี้BTS