เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ พบผู้บริหารภาพยนตร์ชั้นนำสหรัฐฯ ดันไทยเป็นฮับถ่ายทำสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ให้เครดิตเงินคืน 30%

โดย nutda_t

13 พ.ย. 2567

85 views

วันที่ 12 พ.ย. 2567 เวลา 10.30 น. เวลาท้องถิ่นนครลอสแอนเจลิส นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อสร้างเครือข่าย (networking reception) กับ นายชาร์ลส์ เอช. ริฟกิน ผู้บริหารบริษัทโมชั่น พิกเจอร์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ และบริษัทสร้างภาพยนตร์อื่นๆ ประกอบด้วย บริษัท วอลต์ดิสนีย์ , เอชบีโอ เอชบีโอแม็ก และ บริษัท วอร์เนอร์บราเธอส์ , บริษัท อเมซอน และ เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์ , บริษัท เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล มีเดีย จำกัด , บริษัท เน็ตฟลิกซ์ , บริษัท โซนี่พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ , บริษัท พาราเมาต์พิกเจอส์ ณ โรงแรมเบเวอร์ลี วิลเชอร์ อะ โฟร์ซีซันส์

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ ว่าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา มีการถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 450 เรื่องจาก 40 ประเทศ ในประเทศไทย สร้างรายได้ประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์สหรัฐฯ เป็นกลุ่มนักลงทุนอันดับหนึ่ง โดยมีภาพยนตร์ 34 เรื่องที่ถ่ายทำในไทย โดยรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยไทยทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย อาทิ เพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุดที่อัตราร้อยละ 30 และไม่กำหนดเพดานคืนเงินสูงสุดต่อโครงการด้วย

โดย นายชาร์ลส์ เอช. ริฟกิน กล่าวชื่นชมนโยบายไทยในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ รัฐบาลยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในระดับสากลทำให้ไทยเป็นตัวเลือกของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่มีความโดดเด่น ในภูมิภาคได้มากขึ้น และจะช่วยรับประกันการลงทุนในอนาคตที่มากขึ้น ทั้งนี้ ยังรู้สึกตื่นเต้นมากหากจะได้ร่วมงานกับประเทศไทยมากขึ้น โดยบริษัทได้เข้ามาลงทุนในการสร้างภาพยนตร์ในไทย มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และช่วยเสริมสร้างทักษะของบุคคลและสร้างงานในท้องถิ่น เชี่อว่า การหารือเพิ่มเติมระหว่างนายกรัฐมนตรี กับทั้ง 7 บริษัทที่มาในวันนี้ จะสามารถให้การสนับสนุน Soft Power ไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ได้ถ่ายรูปร่วมกับคณะนักดนตรีไทยที่มาโชว์การแสดง และได้ทดลองตีขิม พร้อมระบุว่าเคยเล่นในสมัยเรียน ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมงาน

จากนั้น เวลา 11.30 น. นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการหารือกับภาคเอกชนในนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ว่า ได้หารือกับ บริษัทเวสเทิร์น ดิจิทัล หรือ ดับเบิ้ลยูดี ซึ่งมีโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว 2 แห่ง ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี ซึ่งจะทำเรื่องฮาร์ดไดรฟ์เป็นหลัก และมีลูกค้า อาทิ Google , Microsoft และ Amazon เป็นต้น

แต่มาในครั้งนี้บริษัทดับเบิ้ลยูดี ได้ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้ประสานงานและส่งเสริมตรงนี้ให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทดับเบิ้ลยูดีตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2030 จะเดินหน้าการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นจาก 50% กลายเป็น 100% ทางบริษัทจึงได้ขอความร่วมมือรัฐบาลไทยและบีโอไอให้สนับสนุนในเรื่องนี้ จึงเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดโอกาสการสร้างรายได้ใหม่ๆเกิดโอกาสการจ้างงาน และเกิดงานใหม่ๆให้กับคนไทยแน่นอน แต่การที่จะให้คนไทยไปทำงานในบริษัทเหล่านี้ จะต้องส่งเสริมต่างชาติด้วยในเรื่องของภาษาและทักษะด้วย เพื่อให้ตอนเข้าไปทำงานสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นและสามารถสื่อสารได้ ฉะนั้นต้องพูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่างๆต่อ เพื่อให้เรามีศักยภาพที่เพียงพอ

พร้อมกล่าวว่า ได้พูดคุยกันถึงเรื่องอัปสกิลและรีสกิลด้วย โดยไทยได้บอกไปแล้ว ว่าต้องการจะขับเคลื่อน 2 สิ่งนี้ เพื่อพัฒนาบุคคลากรในประเทศ ซึ่งไทยมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะอยากให้คนไทยมีทักษะการทำงานเกี่ยวกับสาขาเทคโนโลยี เอไอ และการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นต่อจากนี้จะมีการประสานให้ความรู้ และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆของประเทศไทยเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (R & D Center) ร่วมกัน เพื่อสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับคนไทย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยต่อว่าได้พูดคุยกับบริษัทโมชั่น พิกเจอร์ และบริษัทอื่นๆ อาทิ เอชบีโอ , อเมซอน , เน็ตฟลิกซ์ , ดิสนีย์ และ ยูนิเวอร์ซัล สตูดิโอ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีการลงทุนและถ่ายทำในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยปีที่แล้วปีเดียวมีหนังมาถ่ายที่เมืองไทยถึง 450 เรื่อง จาก 40 ประเทศ ขณะที่ สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีจำนวน 34 เรื่อง จึงถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

ก่อนเปิดเผยว่า วันนี้ไทยได้ประกาศว่ารัฐบาลมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของcash rebate กับภาคเอกชน กล่าวคือ เมื่อมาถ่ายทำในประเทศไทยจะได้รับเงินคืน โดยไทยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุด 30% จากเดิม 20% และเมื่อได้คุยกับทุกๆบริษัทก็พบว่าทุกคนดีใจมาก เพราะแทนที่จะไปถ่ายทำในประเทศอื่นใกล้ๆเรา กลายเป็นมาลงทุนในประเทศไทยแทน

ทางบริษัทต่างๆจึงตื่นเต้นมากในเรื่องนี้ และระบุว่าจะกลับไปบอกคนในธุรกิจของเขา ว่าประเทศไทยมีนโยบายนี้และผ่านแล้ว เพื่อที่ทุกคนจะได้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอีก ซี่งฟังแล้วก็น่าดีใจ เพราะเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกัน ตนก็เชื่อเรื่องนี้ก็จะเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยด้วย เพราะจะเกิดการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากเห็น

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่ารัฐบาลพยายามจะสร้าง Eco system ในเรื่องของภาพยนตร์เหล่านี้ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท การถ่ายทำ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหมด เพื่อให้ทำงานเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยจะพยายามร่วมมือกันให้คนไทยมีความรู้และมีอาชีพ เพื่อให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้พูดคุยกันถึงมาตรการลดขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่าการเดินทางมาเยือนลอสแอนเจลิสในครั้งนี้ รัฐบาลขับเคลื่อนไปหลายอย่าง อาทิ การดึงดูดการลงทุน และยกระดับการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ด้วยเหตุนี้ จึงรู้สึกว่าการมาตอกย้ำในเรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง ทำให้ภาคเอกชนมั่นใจว่า เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

คุณอาจสนใจ

Related News