เลือกตั้งและการเมือง
“พิพัฒน์” ประกาศกลางสภา สมาชิกประกันสังคมได้เงินเยียวยาน้ำท่วม 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน
โดย gamonthip_s
26 ก.ย. 2567
242 views
26 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงมาตรการเยียวยาแรงงานที่ประสบอุทกภัย
โดยนางสาวผกามาศ เริ่มต้นขอบคุณนายพิพัฒน์ที่มาตอบกระทู้สด ก่อนจะถามคำถามแรกว่า เนื่องด้วยประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน โซนริมแม่น้ำโขง และภาคใต้ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินแก่พี่น้องชาวไทย แต่ด้วยความช่วยเหลือ เราต่างได้ทราบกันดีว่ามีทั้งภาครัฐได้ประสานไปทางเอกชน เป็นไตรภาคีเข้าไปช่วยกู้สถานการณ์เฉพาะหน้าแล้ว แต่ผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาอุทกภัยยังส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการ จึงอยากสอบถามว่ากระทรวงแรงงานมีการเยียวยาภาคแรงงานทั้งในและนอกระบบ โดยเฉพาะหน่วยงานประกันสังคมจะมีการเยียวยาอย่างไร
จากนั้น นายพิพัฒน์ ลุกชี้แจงว่า จากนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และจากการที่นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ไปดูแล ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทางภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดน่าน แพร่ พะเยา และเชียงราย รวมถึงสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ซึ่งในขณะนี้ก็เลยไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ตาก ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งหมด ยืนยันว่ามีการเยียวยาพี่น้องประชาชน
"ประกันสังคมเรามีออกมาตรการในการที่จะดูแลผู้ประกันตน โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ประกันสังคมจะให้ช่วยเหลือเยียวยา 50% ของค่าจ้างแต่ละวันที่ผู้ประกันตนเสียหาย ถึงแม้ว่าจะทำงานหรือหยุดไม่สามารถทำงานได้เราก็จะเยียวยา 50% ของค่าจ้างในแต่ละวัน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน" นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ ย้ำว่า นอกเหนือจากนั้นกระทรวงแรงงานก็มีการเดินทางไปมอบถุงยังชีพ ให้กับจังหวัดต่างๆที่ประสบกับภัย เราได้มีผู้ให้การสนับสนุนบริจาคน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร ไปจังหวัดต่างๆ แล้วถึง 150,000 ขวด ทำข้าวกล่องแจกไม่น้อยกว่า 5,000 กล่อง ที่มากไปกว่านั้น หลังจากอุทกภัยผ่านไปแล้ว กระทรวงแรงงานก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยซ่อมแซม บำรุงรักษา โดยเฉพาะบ้านที่เกิดอุทกภัย ระบบไฟในบ้านเสียหาย ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเราได้มีการระดมช่างในทุกจังหวัดของภาคเหนือเข้าไปช่วยด้วย
"อย่างแม่สาย ยังเจอปัญหาที่หนัก และไม่สามารถเคลียร์พื้นที่ให้พวกเราเข้าไปซ่อมบำรุงได้ การซ่อมบำรุงตรงนี้ เราจะมีการดูเรื่องระบบไฟฟ้าในบ้าน ซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร และที่สำคัญคือยานพาหนะโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ เราก็จะไปทำการถ่ายน้ำมันเครื่อง และซ่อมบำรุงให้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทางกระทรวงแรงงานแล้วได้ขอรับบริจาคจากบริษัทต่างๆ ที่ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหารแห้ง โดยเฉพาะอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่อง หัวเทียน หรือสายไฟฟ้า ... ผมอาจจะตอบเลยคำถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติไปเลยว่าในขณะนี้ประกันสังคมโดยมีการลงนามใน MOU กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในเรื่องการช่วยเหลือเงินกู้อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ ประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 คนละไม่เกิน 2 ล้านบาท ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทที่ประกันสังคมจะลงนาม MOU กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยห้าปีแรกคือ 1.59%" นายพิพัฒน์ กล่าว
ทำให้นางสาวผกามาศ ขอถามต่อเป็นคำถามสุดท้าย แค่ 2 คำถาม ว่า ในสถานการณ์สภาพอากาศแปรปรวน จะต้องมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทางกระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับหรือแผนฉุกเฉินหรือไม่ เช่น แรงงานนอกระบบจะมีอะไรมาช่วยเยียวยา
"โลกของเราอยู่ในยุคโลกเดือดแล้วนะคะ ย่อมเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนทุกวัน แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีภัยพิบัติค่อนข้างต่ำกว่าประเทศอื่น แต่ก็คงหลีกนี้ไม่พ้น เราถึงจะต้องเตรียมแผนเพื่อรองรับเรื่องภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่สามารถกู้ภัยเมื่อเหตุเกิดไปแล้ว จึงอยากฝากรัฐบาลและภาครัฐในพิจารณาดำเนินการเพื่อสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทยด้วยค่ะ" นางสาวผกามาศ กล่าว
นายพิพัฒน์ จึงลุกตอบว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมากๆ คำว่าโลกเดือด อุทกภัยก็ดี วาตภัยก็ดี จะเกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าไต้ฝุ่นลูกที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปีก็พัดเข้ามาสู่ภูมิภาคของเราในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ซึ่งสร้างความเสียหายให้ประเทศญี่ปุ่น จีน เมียนมา และเวียดนาม เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยังดีที่ประเทศไทยเจอไทยท้ายๆ แต่ด้วยความที่ปีนี้เรามีเจอกับพายุเข้ามาในภูมิภาคนี้หลายลูก กระทรวงแรงงานเรามีการคุยและพูดถึงการสร้างอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพอิสระ
“ตัวผมเองได้กำชับผ่านกรมพัฒนาฝีมือแรงงานว่าการที่เราจะพูดถึงการสร้างอาชีพอิสระ สิ่งที่เราจะต้องเอามาเป็นเป้าหมายและหลักในการที่จะหารือกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในแต่ละตำบล ซึ่งนโยบายของกระทรวงแรงงานคือ 1 ตำบล 1 กลุ่มอาชีพอิสร ะโดยให้ยึดถือนโยบาย BCG เราจะพยายามใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นตำบลอำเภอ หรือหมู่บ้าน เพื่อนำกลับมาใช้ เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อน เรารณรงค์เรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อนให้ได้ ... กระทรวงแรงงานพยายามให้ความรู้ว่าอะไรควรจะทำ อะไรไม่ควรจะทำ และอะไรที่คิดว่าเมื่อเราทำไปแล้วไม่สร้างมลภาวะให้กับโลกใบนี้" นายพิพัฒน์ กล่าว
แท็กที่เกี่ยวข้อง เงินเยียวยา ,ประกันสังคม