เลือกตั้งและการเมือง

กกต.ยังไม่ประกาศรับรอง สว. ตามกำหนด หลังร้องเรียนกันวุ่น - 'ไอติม' จี้เร่งมือ ป้องกันสุญญากาศการเมือง

โดย nattachat_c

3 ก.ค. 2567

85 views

วานนี้ (3 ก.ค. 67) ภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับเลือกเป็น สว.จำนวน 200 คน และสำรองอีก 100 คน และหลังการเลือกแล้วเสร็จ มีผู้สมัคร สว.จำนวนมาก ทยอยยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว.


ขณะที่ กกต.ได้แถลงสรุปภาพรวมการเลือก สว.ระดับประเทศ พบเรื่องร้องเรียน 614 เรื่อง แบ่งเป็น

  • เรื่องคุณสมบัติ ให้ลบชื่อ คิดเป็น 65%
  • ไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ลงคะแนน
  • มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ มีอยู่ 3%


ทั้งนี้ ที่ประชุม กกต. ก็ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว. ตลอดช่วงวันที่ 1-2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากคำร้องมีเป็นจำนวนมาก และมีการส่งสัญญาณมาว่า การประกาศรับรองรายชื่อ สว.200 คน และสำรองอีก 100 คน เดิมที กกต.กำหนดว่า จะประกาศในช่วงวันที่ 3 กรกฎาคม อาจจะเลื่อนออกไปก่อน และคณะกรรมการ กกต. ให้นัดประชุมหารือกันต่อ ในช่วงบ่ายวันที่ 3 กรกฎาคม และได้สั่งการให้สำนักงาน กกต.จัดเตรียมรายละเอียดข้อมูลด้านต่าง ๆ ถึงกรณีมีกระแสข่าวออกมาว่า กกต.จะสามารถประกาศรับรองรายชื่อ สว.ในต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งก็สอดคล้องกับทางสำนักงานวุฒิสภาที่ได้มีการเตรียมความพร้อมรับการเข้ารายงานตัวของ สว.ใหม่ ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า


ส่วนข้อสงสัยว่า กกต.จะสามารถรับรองสว.ใหม่ ทั้ง 200 คน ค่อยสอยคนที่มีปัญหาในภายหลัง หรืออาจจะมีการรับรองเพียงบางส่วนที่ไม่มีปัญหาไปก่อนนั้น ซึ่งการพิจารณาของ กกต.ว่า ใครทำผิดกฎหมาย หรือทุจริตการเลือก สว. จะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนการกระทำความผิด แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะสั่งเอาผิด ให้มีการลบชื่อได้ทันที โดยจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล และหลักฐาน รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่ส่วนใหญ่ กกต.จะดำเนินการที่แล้วเสร็จ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

-------------------

เวลา 13.20 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และโฆษกพรรค กล่าวถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ใหม่ 200 คน ว่า


ทุกอย่างมาจากผลลัพธ์ของกติกา ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ วันนี้ เราผ่านการคัดเลือก สว.มาแล้ว ตอนนี้ คงทำอย่างไรให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งตรวจสอบขอร้องเรียนให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะได้รับรอง 200 คน


ซึ่งตนเคยมีข้อกังวลถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.นั้น ไม่ได้เขียนกำหนดว่าต้องประกาศผลการเลือกวันไหน แต่ตนเห็นว่า เพื่อประโยชน์ของกลไกทางการเมืองจะเดินหน้าไปได้นั้น อยากให้ กกต.เร่งประกาศผลการเลือก สว. เพื่อให้เราจะได้มี สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพราะด้วยในรัฐธรรมนูญปี 2560 การทำหน้าที่ของ สว.มีความสำคัญอย่างมาก


ประการแรก ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องทำในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาคือ สส.และ สว.


ประการที่สอง เป็นเรื่องบทบาทการรับรองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ


ประการที่สาม อย่างที่ทราบว่า พรรคเราเองมีกฎหมายหลายฉบับที่จะยื่นสภาชุดนี้


ช่วงที่เราอยู่ภายใต้ สว.ชุดเดิม ถูกกำหนดไว้ว่า ถ้ากฎหมายอะไรที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันกับ สว. ดังนั้น การประกาศรับรองผลการเลือกควรจะเร็วที่สุด และอยากให้ กกต.เอง ออกมายืนยันว่า จะใช้เวลากี่วันในการรับรองผลเลือก


เมื่อถามว่า จากข้อร้องเรียนในการเลือก สว.เรามีความกังวลเรื่องสุญญากาศทางการเมือง ที่จะทำให้ สว.ชุดปัจจุบัน ยังทำหน้าที่ต่ออยู่หรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า สุญญากาศคงเกิดขึ้นน้อยลง ถ้า กกต.เร่งประกาศรับรองผลเลือก สว.ชุดใหม่ ที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าตนเองเห็นด้วยกับกติกาทั้งหมดของการเลือก สว. เพราะตนเคยย้ำว่า ด้วยโครงสร้างอำนาจที่มาของ สว.ที่ถูกออกแบบมานั้น ก็ไม่ใช่อะไรที่พรรคก้าวไกลเห็นชอบด้วย


ในส่วนที่ว่า สว.มีอำนาจสูง แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ด้วยกติกามาแบบนี้ และได้มีการเลือก ส.ว.ไปแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะพยายามทำให้การเปลี่ยนผ่านจาก สว.ชุดเก่าและใหม่ เกิดขึ้นโดยเร็ว


เมื่อถามว่า กังวลถึงการที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สว.ใหม่ มาจากนักการเมืองบ้านใหญ่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ที่มีการตั้งข้อสังเกตแบบนี้ มาจากผลลัพธ์ของการออกแบบกติกา แต่อยากให้เรามองไปข้างหน้าดีกว่า ว่า สว.ชุดใหม่ จะมีบทบาทสำคัญมาก โดยเฉพาะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


เมื่อถามว่า สว.ชุดไหน จะมีโอกาสเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า ระหว่าง สว.ชุดเดิม ที่รักษาการต่อ กับ สว.ชุดใหม่ นายพริษฐ์มองว่า สำหรับ สว.ชุดเดิม ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ก็ได้ เพราะดูจากสถิติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมา ประมาณเกือบ 30 ร่าง ก็ผ่านไปได้แค่ร่างเดียว คือ เรื่องระบบเลือกตั้ง เราจึงได้เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ ของ สว.ชุดเก่า ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ไม่แก้ไขมาตราใดๆ


ส่วน สว.ชุดใหม่ก็คงได้พิสูจน์กันหลังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เพราะปัจจัยหลักในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการกำหนดองค์ประกอบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% รวมถึงอาจมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา คู่ขนานไปกับการแก้ไขทั้งฉบับ ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่า สว.ชุดใหม่ จะมองเรื่องนี้อย่างไร


เมื่อถามว่า ข้อกังวล สว.ชุดใหม่ อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษา หรืออาชีพ ที่ไม่ตรงกับกลุ่มอาชีพที่รับสมัคร นายพริษฐ์ มองว่า ทุกคนก็ผ่านกติกาที่ถูกออกแบบมาด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 หากไม่พบการกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย ก็คิดว่าทุกคนเข้ามาด้วยกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน แต่หากมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย กกต.ก็ต้องเร่งตรวจสอบ และลงโทษตามกระบวนการ


ส่วนที่มีความคิดว่า ควรจะปรับกระบวนการได้มาซึ่ง สว.ให้เป็นการเลือกตั้ง หรือถึงขั้นตั้งคำถามว่า ควรมีวุฒิสภาต่อไปหรือไม่ ก็ล้วนเป็นโจทย์ที่คิดว่าสามารถพูดคุยกันได้ แต่สุดท้าย พรรคก้าวไกลก็เชื่อว่า ผู้ที่จะมาออกแบบกระบวนการ ควรเป็น ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

-------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/g6v5wMgncbg














คุณอาจสนใจ

Related News