เลือกตั้งและการเมือง
นายกฯ ยันไม่มีปัญหา ภท.โหวต พ.ร.บ.ประชามติ สวนพรรคร่วม โต้วิวาทะ "อีแอบ"
โดย panwilai_c
19 ธ.ค. 2567
60 views
ร่องรอยความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย ที่เริ่มมีวิวาทะกัน จากคำกล่าวถึง อีแอบ ของนายทักษิณ ชินวัตร กระทั่งล่าสุด มาถึงการลงมติ พ.ร.บ.ประชามติ ที่พรรคภูมิใจไทย สวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาล วันนี้ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ต้องเคลียร์อะไรกับพรรคภูมิใจไทย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถูกเลื่อนออกไป อาจไม่ทันรัฐบาลนี้ จะมีทางออกอย่างไร นายแพทย์สุรวงศ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะรองประธานคณะที่ปรึกษา ด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ยืนอยู่ด้านข้าง รายงานต่อนายกฯ ทันทีว่าประชามติน่าจะทำทัน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะหันมาตอบผู้สื่อข่าวพร้อมระบุตอบว่า ขอคุยกับ ทางวิปก่อนว่าจะเป็นอย่างไร
การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีวันนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ในวาระการพิจารณาลงมติร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎร มีมติ 327 ต่อ 61 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 คว่ำร่างกฏหมายประชามติไม่เอาเสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำให้ต้องยับยั้งร่างกฎหมายไว้ 180 วัน เนื่องจาก สส.และ สว.เห็นไม่ตรงกัน
แต่ที่กลายเป็นจุดสนใจเนื่องจากเนื่องจากพรรคภูมิใจไทยโหวตสวนทางกับสภาเดียวกัน คือโหวตเห็นชอบต่อร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นการโหวตไปในทิศทางเดียวกับสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. คือการเห็นด้วยให้มีการทำประชามติ 2 ชั้น มี 59 คน โดยมี สส.9 คน ไม่ได้มาร่วมโหวต ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทน ราษฎร คนที่สอง ไม่ลงคะแนนเสียง เนื่องจากทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าจะมีการพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายกฯว่า ไม่ต้องคุย
เมื่อถามว่าในนามรัฐบาลกรณีกฎหมายสำคัญควรจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ระบุว่า มันก็มีหลายความคิดเห็นแต่สุดท้ายก็ต้องพูดคุยกันให้เข้าใจตรงกัน แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไร
เมื่อถามย้ำว่าจะต้องปรับจูนการทำงาน กันหรือไม่ นางนางสาวแพทองธารระบุว่า ความจริงไม่ใช่แค่กับภูมิใจไทย แต่ทุกคน ก็มีการปรับกันเรื่อยๆอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนรวมถึงคนในพรรคเดียวกัน
ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยบอกว่าหากมีการพิจารณากฎหมายสำคัญ นอกเหนือจากนโยบายที่เคยแถลงไว้ ควรจะมีการพูดคุยหารือกันก่อนลงมติ นั้น บางครั้งก็มีพูดคุยกันแต่ ระยะเวลา เกิดขึ้นเร็วก็ไม่มีเวลาคุยกัน แต่ในทางสภาขอให้เป็นไปตามระบบ พร้อมย้ำว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา เมื่อถามย้ำว่าเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาล ควรประสานคุยกันเองใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจุดแรกต้องให้วิปรัฐบาลคุยกันก่อน
สำหรับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 3 ด้วยมติเอกฉันท์ 409 ต่อ 0 เมื่อ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญให้ยกเลิกเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นแล้วให้กลับไปใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวในการหาข้อยุติ ในเรื่องที่จัดทำประชามติ แต่ กรรมาธิการพิจารณาร่าง กฎหมายฉบับนี้ของวุฒิสภา ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. สายสีน้ำเงิน จากกลุ่ม 2 (กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม) เป็นประธาน มีมติเมื่อ 25 กันยายน ด้วยคะแนนเสียง 17 ต่อ 1 ให้แก้ไขหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ โดยกลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น
เมื่อร่าง กฎหมายกลับมาที่ สภา สส.และมีมติยืนยัน เรื่องเสียงข้างมากชั้นเดียว เว้นพรรคภูมิใจไทย ที่โหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ร่างกฎหมายต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนฯ อาจใช้การยืนตามร่างเดิมได้ โดยไม่ต้องกลับมาถาม สว. อีก แต่การทำงานของ สว.ถูกมองว่าตั้งใจถ่วงเวลาให้ร่างกฎหมายล่าช้าออกไป
สำหรับเสียงข้างมาก 2 ชั้นหมายความว่า ในการผ่านประชามติ ชั้นแรก ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มีสิทธิออกเสียง และชั้นที่สอง ต้องมีผู้โหวตเห็นชอบเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
ตัวอย่างเช่น หากมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 60 ล้านคน ในชั้นแรก ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงเกิน 30 ล้านเสียง แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ ต้องมีผู้โหวตเห็นชอบเกิน 15 ล้านเสียง
ส่วนเสียงข้างมากชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียง ไม่แสดงความคิดเห็น คะแนนของผู้โหวตเห็นชอบ ต้องมากกว่าคะแนน ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือไม่แสดงความคิดเห็น
แท็กที่เกี่ยวข้อง ภูมิใจไทย ,โหวตสวนรัฐบาล ,เพื่อไทย ,พรบประชามติ ,โหวตสวนมติ