เลือกตั้งและการเมือง

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. 5-4 ให้ 'เศรษฐา' พ้นนายกฯ

โดย panwilai_c

14 ส.ค. 2567

58 views

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ อาจจะเรียกได้ว่า "หักปากกาเซียน" เพราะก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า นายเศรษฐา จะรอดพ้นความผิดในคดีนี้ และผลออกมา มีมติ 5 ต่อ 4 ให้ นายเศรษฐา พ้นนายกฯ



14 ส.ค. 2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่อดีต 40 สว. เข้าชื่อกันขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่ จากการแต่งตั่งนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี



โดย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีกลไกลความเข้มงวด ไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรม เข้ามามาอำนาจ จึงกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม และไม่มีลักษณะต้องห้ามด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติสูงกว่า สส.เพราะเป็นผู้บริหาร และปกครองประเทศ ถือประโยชน์ประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม และไม่กระทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ แม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้องนายพิชิต ก็ไม่ได้หมายความว่า นายพิชิต จะไม่มีปัญหาความน่าเชื่อถือ หรือความน่าไว้วางใจทางการเมือง ที่พิจารณาจากมาตรฐานวิญญูชน และการกระทำของนายพิชิต ที่ถูกศาลฎีกา มีคำสั่งลงโทษ ก็เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่งต่อเรื่องผิดปรกติวิสัยที่วิญญูชนพึงปฏิบัติ



ส่วนกรณีที่นายพิชิต ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ กรณีการละเมิดอำนาจศาล จากการนำเงินสดใส่ถุงกระดาษ มอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ เพื่อจูงให้ให้เจ้าหหน้าที่ศาลฯ กระทำการอันมิชอบ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่จำเลยนั้น การกระทำดังกล่าว จึงเป็นความผิดละเมิดอำนาจศาล ก่อนที่จะถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพทนายความนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่า เป็นการทำที่เสื่อมเสียต่อวิชาชีพทนายความ สะท้อนความไม่ซื่อสัตย์สุจริตที่ประจักษ์ ดังนั้น การเสนอชื่อนายพิชิต ย่อมมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการเสนอชื่อ



ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังเห็นว่า นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของนายพิชิตดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอให้นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แล้กระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง



ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา เคยให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิชิต และได้สรุปให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จึงสะท้อนว่า นายเศรษฐา ย่อมต้องทราบประวัติ จากเอกสารสรุปประวัติว่า นายพิชิต เคยถูกคำสั่งศาลจำคุก ฐานละเมิดอำนาจศาล และถูกเพิกถอนการประกอบวิชาชีพทนายความ ซึ่งในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ในปี 2566 นายพิชิต ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในการปรับคณะรัฐมนตรีเดือนเมษายน 2567 นายพิชิต ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงสะท้อนว่า นายเศรษฐา รู้พฤติการณ์นายพิชิตแล้ว แต่ทูลเกล้าฯ เสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แม้นายเศรษฐา จะอ้างว่า ไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์ ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ก็เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบในการกระทำทุกการตัดสินใจ และการพิจารณาถึงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถเห็นได้โดยภาวะวิสัย ที่วิญญูชนสามารถวินิจฉัยได้ ดังนั้น การกระทำของนายเศรษฐา ในการรับสนองพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ทั้งที่มีลักษณะต้องห้าม โดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน เพราะการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ต้องไม่ใช่เพียงการใช้ความไว้วางใจส่วนตัว แต่คณะรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีกลไกไม่ให้ผู้ขาดธรรมาภิบาล เข้ามาบริหารปกครองบ้านเมือง จึงให้รัฐมนตรี ต้องมีสถานะสุจริตเป็นที่ประจักษ์ มากกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต แม้นายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งบุคคลตามที่ตนไว้วางใจตามครรลอง แต่บุคคลนั้น ต้องมีคุณสมบัติชัดเจน น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจจากประชาชน



ดังนั้น นายเศรษฐา จึงขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมคบสมาคมกับผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อาจกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาประชาชน ขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรี จึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้พฤติการณ์ของนายพิชิต แต่ยังเสนอนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ดังนั้น นายเศรษฐา จึงไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี



ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ที่มีเสียงข้างมาก ได้แก่ นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุณห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลง



ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 คน ที่เป็นเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ที่เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ไม่สิ้นสุดลง



ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วงเล็บ 1, 2 และ 3 แล้ว กำหนดให้คณะรัฐมนตรีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ โดยที่นายกรัฐมนตรี จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้


https://youtu.be/Z7QIoUq1--s

คุณอาจสนใจ

Related News