เลือกตั้งและการเมือง

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ชี้ล้มล้างการปกครอง

โดย panwilai_c

7 ส.ค. 2567

24 views

มติศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเอกฉันท์ ให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของกรรมการบริหารพรรค 11 คน เป็นเวลา 10 ปี รวมถึงการห้ามไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ เป็นเวลา 10 ปีด้วย



ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้ยุบพรรคก้าวไกล ในคำวินิจฉัยในคดีที่ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง



เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่ามีอำนาจในการวินิจฉันคดีนี้ และ กกต.ได้ยื่นคำร้องถูกต้องตามระเบียบ กกต.โดยไม่ต้องไต่สวนผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นการแก้ข้อต่อสู้ทั้ง 9 ข้อของพรรคก้าวไกล



ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวย้ำว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้องเพียงพรรคเดียว ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้อง แม้จะไม่ได้ทำโดยกรรมการบริหารพรรค แต่กรรมการบริหารพรรคต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ



นอกจากนี้พรรคผู้ถูกร้องได้ลงนามในการจัดตั้งรัฐบาลพร้อมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดคล้องกับกลุ่มการเมือง เป็นการรณรงค์ปลุกเร้า ยุยงปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสสังคม สนับสนุนยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นำมาซึ่งความแตกแยกซึ่งคนในชาติ และศาลต้องสั่งยุบพรรคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการ นักการเมือ หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าในระดับใดต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฏหมายภายในประเทศ การแสดงความเห็นใดๆย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน



ส่วนคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วงเล็บ 1 และ 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง และมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ตามมาตรา 92 วรรค 2 โดยตุลาการเสียงข้างน้อย คือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

คุณอาจสนใจ

Related News