สังคม

เลขาฯป.ป.ช.ขอเหตุผล 'บิ๊กต่อ' เลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา ปมบ้านที่อังกฤษ หากพบประวิงเวลา ส่งไปรฯทันที

โดย panwilai_c

29 พ.ค. 2567

198 views

เลขาธิการ ป.ป.ช. ขอดูเหตุผลการขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาการไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินของ ผบ.ตร. และภริยา คือ บ้านที่อังกฤษ กำชับหากพบเหตุประวิงเวลา แจ้งข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ได้ อีกฟากหนึ่ง กรณีการสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการ นายกรัฐมนตรี ยังต้องรอพิจารณาข้อแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าสุดท้ายจะดำเนินการอย่างไร



นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงความคืบหน้าที่ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และภริยา กรณีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินคือ บ้านที่ประเทศอังกฤษว่า ผบ.ตร.และภริยาไม่มารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้ขอเลื่อนการเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา หลังจากนี้อยู่ที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินจะพิจารณาให้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เลื่อนการเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ จะต้องดูเหตุผลการชี้แจงของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ก่อน ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ถ้ามีความจำเป็นก็ผ่อนปรนให้เลื่อนได้ ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ เช่น เจ็บป่วย เดินทางมาไม่ได้ เพราะเพิ่งเป็นการขอเลื่อนครั้งแรก



แต่ถ้ามีความพยายามประวิงเวลา ไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ก็สามารถแจ้งข้อกล่าวหาให้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ทราบผ่านทางไปรษณีย์ได้ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์จะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อใด ส่วนจะให้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เลื่อนการมารับทราบข้อกล่าวหาได้กี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน



ขณะที่ความคืบหน้า กรณีให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการนั้น วันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบกับพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้สื่อข่าวจึงถามถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ แต่เมื่อมีการทักท้วงมาก็รับฟัง และดำเนินการต่อไป ซึ่งก็มีความรอบคอบ โดยหลังจากนี้ต้องไปศึกษาและทำให้ถูกต้อง



เมื่อถามว่าไม่มีอะไรที่ต้องกังวลใจใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าก็เพราะความกังวลใจเลยต้องทำให้ถูกต้อง ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำ และมีอีกหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องรับฟังให้ครบถ้วน ทุกๆ ภาคส่วน ต้องมานั่งคุยกันและมีขั้นตอนอะไรก่อนหลัง ขอไปลำดับเรื่องก่อนว่าอะไรมาก่อนหลัง



อีกด้านหนึ่ง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความเห็นในกรณีนี้ 2 ประเด็น คือ การสั่งให้ พล.ต..อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรี ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้โปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่



โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบใน 2 ประเด็นนี้ ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่งพร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ส่วนกรอบระยะเวลาในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาเหมาะสม



นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนดังกล่าว หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นก็จะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกสอบสวน



อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานนั้น อย่างกรณีนี้นายกรัฐมนตรี อาจจะรับข้อสังเกตมาพิจารณา แต่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ แน่นอนตามที่วินิจฉัยมา แต่เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี อาจจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ เทียบเท่ากับศาลปกครองชั้นต้น



ซึ่งการวินิจฉัยจะมี 2 แนวทาง คือ กรณีแรกเป็นคุณกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผลก็คือต้นสังกัดจะต้องมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการทันที โดยมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน และเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะนำคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ผลคำวินิจฉัยเป็นโทษ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็สามารถร้องศาลปกครองสูงสุดได้ ซึ่งมีกรอบนระยะเวลา 90 วัน

คุณอาจสนใจ

Related News