สังคม

ดีเดย์ 1 ต.ค! ยุบ ศบค.- ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมโควิด – ‘หมออุดม’ ยันเซตระบบไว้ดี ไม่หวั่นระบาดระลอกใหม่

โดย petchpawee_k

24 ก.ย. 2565

31 views

วานนี้ (23 ก.ย.) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงผลการประชุม ศบค. ว่าที่ประชุมเห็นควรให้พิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่ว ราชอาณาจักร ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19 ) รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป


ด้านนายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวก่อนการประชุม ศบค. ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน ส่วนการตรวจเอทีเคที่รายงานเข้าระบบมีประมาณ 13,000-14,000 คนต่อวัน และยังมีเอทีเคที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบอีก  ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีประมาณ 2-3 เท่าต่อวัน


ซึ่งเมื่อนับรวมผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 3-4 หมื่นรายต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง ทำให้เปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้


แต่ทั้งนี้เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง ก็ถือว่าสามารถผ่อนคลายกิจกรรมได้ แต่ทุกคนต้องดูแลตัวเอง เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่คนต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ที่มีอยู่ร้อยละ 1 ซึ่งไทยถือว่าต่ำกว่าทั้งโลกมาก ซึ่งมาจากการดูแลกันอย่างดี แต่แม้จะมีผู้เสียชีวิตไม่มาก ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น



นายแพทย์อุดม กล่าวเน้นย้ำเรื่องวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าตัวเรา และเมื่อรับเชื้อไปแล้ว ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่น อีกทั้งป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงและไม่เสียชีวิต ถึงร้อยละ 80 และถ้าฉีดเข็มกระตุ้น เข็ม 3-4 จะช่วยไม่ให้เกิดลองโควิด ซึ่งควรฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ให้ได้ร้อยละ 70 ขึ้นไป เพราะตอนนี้การฉีดเข็ม 3 อยู่ที่เพียงร้อยละ 46-47 เท่านั้น ซึ่งวัคซีนในประเทศมีเพียงพอ


ทั้งนี้ หากมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ยืนยันว่า รัฐบาลไม่กลัวในเรื่องนี้ เพราะได้มีการวางระบบไว้หมดแล้ว โดยเรียนรู้จากตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยจะต้องเป็นความร่วมมือจากทุกกระทรวง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดย ศบค. ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้ และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค. ไปด้วย ซึ่งในวันนี้ก็จะหารือกัน


โดยเบื้องต้นจะให้ คณะรัฐมนตรี มอบหมายงานเหมือนกับ ศบค. เพื่อให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกัน ก่อนที่ระยะยาวจะรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อ ที่ขณะนี้จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีโครงสร้างบางส่วนที่คล้าย ศบค. โดยที่ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก  และหาก 1 ตุลาคมนี้ ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็จะใช้วิธีมอบหมายกระทรวงต่างๆ ให้ทำหน้าที่ ในการทำงานและบูรณาการร่วมกัน โดยใช้มติคณะรัฐมนตรีไปก่อน


ซึ่งก่อนหน้านี้ สามารถประกาศ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ก่อนทำเข้าสู่สภาภายหลัง แต่ช่วงที่ผ่านมามีปัญหา จึงยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ยืนยันว่า จะไม่เกิดสูญญากาศระหว่างรอกฎหมาย เพราะสถานการณ์ไม่เข้มข้นเท่ากับช่วงที่มี ศบค. และกระทรวงต่างๆ คุ้นเคยการทำงาน และมีความเชื่อมโยงกันหมดแล้ว


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/aYgogQwMJsg

คุณอาจสนใจ