เลือกตั้งและการเมือง
ดร.เจษฎ์ ชี้ 3 แนวทางตีความวาระ 8 ปี “พลเอกประยุทธ์” ลั่นต้องหมดวาระ 23 ส.ค.นี้
โดย JitrarutP
9 ส.ค. 2565
286 views
วันที่ 23 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะเป็นชนวนสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เนื่องจากเป็นวันครบ 8 ปี เต็ม การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ วันที่ 24 ส.ค.2557
ชนวนเหตุแห่งปัญหา
ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และเกิดขึ้นระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดเงื่อนไขการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ ในมาตรา 158 ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8ปีมิได้” นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีมากี่สมัยรวมแล้วต้องไม่เกิน 8ปี แต่กลับมีข้อถกเถียงว่า 8ปี ของพลเอกประยุทธ์ นับจากปี 2557 จริงหรือไม่? เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้น หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เกือบ 3ปี
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และเป็นอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี2560 เปิดเผยถึงแนวทางข้อถกเถียงว่า การนับวาระ 8ปี ของพลเอกประยุทธ์ ถูกอธิบายออกเป็น 3 มุมมอง
- แนวทางแรก นับวาระตั้งแต่เป็นนายกฯปี 2557 ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จะครบ8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก
- แนวทางที่สอง นับตั้งแต่ การมีรัฐธรรมนูญ2560 คือตั้งแต่ เดือน เมษายน 2560 มีโอกาสที่จะดำรงตำแหน่ง ต่อเนื่องในสมัยที่2 เป็นได้ถึง ปี 2568 (หากในปี2566 ครบวาระ 4ปี รัฐบาลมีการเลือกตั้งแล้วได้รับเลือกกลับมา )
- แนวทางที่สาม คือการนับเฉพาะการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งถ้านับตามแนวทางนี้ พลเอกประยุทธ์ มีโอกาสดำรงตำแหน่ง ต่อเนื่องในสมัยที่2 เป็นได้ถึง ถึงปี2570 (หากในปี2566 ครบวาระ 4ปี รัฐบาลมีการเลือกตั้งแล้วได้รับเลือกกลับมา )
ซึ่งแนวทางนี้หากเกิดขึ้นจริงเมื่อบวกรวม นับตั้งแต่เป็น นายกฯ ในช่วง คสช.ด้วย เท่ากับว่า พลเอกประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 13 ปี ด้วย
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า ในมุมมองทางกฎหมายส่วนตัวแล้ว เห็นว่าควรต้องนับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะครบกำหนดใน วันที่ 23 ส.ค.นี้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี2560 มีผลบังคับใช้ ให้ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ2560ด้วย ดังนั้นการเป็น นายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จึงถือว่าได้นับ มาตั้งแต่ปี 2557 แล้วและมีผลจามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทุกประการ
แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จะมีมติเลือก ไม่แนวทางที่2 ก็แนวทางที่3
ขณะที่ ความเห็นของ ศ. จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองว่าแนวทางที่2 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะหากตีความตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ให้เป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ก็เท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ก่อนหน้า มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ดังนั้นเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเริ่มมีผลโดยไม่ได้ ส่งผลย้อนหลัง ไปยังรัฐธรรมนูญก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามความไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจโดยตรงในการตีความตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ จึงเป็นที่จับตาว่า ทั้ง 3 แนวทาง ที่ว่ามานี้ศาลจะให้น้ำหนักและชี้ขาดไปยังแนวทางใด
คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง
ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น