ต่างประเทศ
โลกผวา ‘ฝีดาษลิง’ ปากีสถานพบผู้ป่วยเคสแรกในเอเชีย อีซีดีซี ยกระดับเตือนรับมือสายพันธุ์ใหม่ ‘เคลด 1’
โดย nicharee_m
17 ส.ค. 2567
124 views
ทั่วโลกผวา ‘ฝีดาษลิง’ สายพันธุ์ใหม่ เคลด 1 เจอนอกทวีแอฟริกา - ปากีสถานพบผู้ป่วยเคสแรกในเอเชีย ECDC ยกระดับเตือนรับมือ แนะนักเดินทางฉีดวัคซีนป้องกัน
หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้โรคเอ็มพ็อกซ์ในหลายพื้นที่ของแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 ส.ค.) ล่าสุดวานนี้ (16 ส.ค.) สาธารณสุขปากีสถานออกมายืนยันว่า พบผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์ในประเทศแล้ว 1 รายในแคว้นแคบาร์ ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ขณะที่สาธารณสุขประจำจังหวัดรายงานว่า ผู้ป่วยที่พบมี 3 ราย และทั้งสามเพิ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใด
ขณะที่เมื่อวันที่ 15 ส.ค.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับโลกยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ใหม่ในสวีเดน
องค์การอนามัยโลกตัดสินใจส่งสัญญาณเตือนภัย หลังพบไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่และยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) และประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป หรือ ECDC ยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงจากเชื้อเอ็มพ็อกซ์ หรือโรคฝีดาษลิง หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกยืนยันการติดเชื้อไวรัสเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ใหม่เป็นครั้งแรกนอกทวีปแอฟริกา
การยกระดับการเตือนภัยของ ECDC มีขึ้นหนึ่งวัน หลังจากสวีเดนพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศ ที่นับเป็นรายแรกที่พบนอกทวีปแอฟริกา ECDC ยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าความเสี่ยงของการแพร่ระบาดยังอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในยุโรปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
นอกจากนี้ยังได้แนะนำผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในแอฟริก ควรพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงด้วย เอ็มพ็อกซ์ ซึ่งเดิมเรียกว่าโรคฝีดาษลิง สามารถแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ
ขณะที่องค์การอนามัยโลก และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ หรือ IFRC ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปิดพรมแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอ็มพ็อกซ์ หลังมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า เคลด 1 (Clade 1) ซึ่งมีความรุนแรงกว่าเดิม นอกทวีปแอฟริกา
โดยนางบรอนวิน นิโคล เจ้าหน้าที่อาวุโสของ IFRC ย้ำว่า การปิดพรมแดนไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้ ขณะที่นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกของอนามัยโลกกล่าวว่า ทางหน่วยงานของเธอจะเผยแพร่รายงานคำแนะนำแบบชั่วคราวให้กับประเทศต่าง ๆ
ขณะที่ เจน เอ็ม. มาร์ราซโซ (Jeanne Marrazzo) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIAID) เผยว่า ผลการทดลองยาต้านไวรัส “เทคูวิริแมท” สร้างความผิดหวัง
ยาต้านไวรัสดังกล่าวที่นำไปใช้ในช่วงที่ฝีดาษลิงระบาดทั่วโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2022 ถึงปี 2023 ไม่ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า เคลด 1 ซึ่งมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม
จากผลทดลองเบื้องต้นยาต้านไวรัสเทคูวิริแมท ไม่ได้ลดระยะเวลาอาการของโรคในเด็กและผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เคลด 1 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้ ซึ่งการทดลองนี้ดำเนินการโดยนักวิจัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและสหรัฐฯ
ฝีดาษลิงเคลด 1 เป็นเชื้อฝีดาษประเภทที่อันตรายกว่าเชื้อเคลด 2 ที่ระบาดไปทั่วโลกเมื่อปี 2022 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วยที่รุนแรงกว่าและอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า
แม้ว่าผลการทดลองจะออกมาว่า ยาต้านไวรัส Tecovirimat (เทคูวิริแมท) ไม่ได้มีผลในการรักษาดีไปกว่ายาหลอก แต่นักวิจัยเผยว่า การทดลองดังกล่าวทำให้เราได้ข้อมูลที่จำเป็น และพบว่า การเสียชีวิตสามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
แท็กที่เกี่ยวข้อง ฝีดาษลิง ,โรคเอ็มพ็อกซ์