อาชญากรรม

เปิด 3 ช่องทาง เหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ ลงทะเบียนรับเงินคืน เผยความเสียหายมิถุนายน กว่า 3 พันล้านบาท

โดย nicharee_m

6 ก.ค. 2567

417 views

ปปง.เปิด 3 ช่องทางเหยื่อแก๊งคอลฯ ลงทะเบียนรับเงินคืน เผยความเสียหาย มิ.ย.กว่า 3 พันล้าน

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.67)  นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงประชาชนคนไทยโอนเงิน มูลค่าเสียหายนับแสนล้านบาทนั้น

ล่าสุดจากข้อมูล พบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ยึดทรัพย์เป็นของกลางแล้ว ดังนี้  เงินสดรวมได้ประมาณ 6,000,000,000 บาท อสังหาริมทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งประมาณ 4,000,000,000 บาท รวมกันแล้วประมาณ 10,000,000,000 บาท  

สำหรับทรัพย์สินยึดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย หลังจาก ปปง. ยึดทรัพย์มาแล้ว โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ภายใน 90 วัน เพื่อให้ประชาชนมายื่นคําร้องขอรับการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

สำหรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิ ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

1. ยื่นด้วยตนเอง ณ สํานักงาน ปปง.

2. ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนส่งถึง สำนักงานป้องกันและปราบการฟอกเงิน เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บ 2 มุมซองด้านบนว่า “ส่งแบบคําร้องขอ คุ้มครองสิทธิรายคดี....”

3. ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง https:khumkrongsit.amlo.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-219-3600 หรือ โทร 1710

นายคารม เปิดเผยต่อว่า ตั้งแต่วันที่  1 – 30  มิถุนายน 2567 ผลการแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https:www.thaipoliceonline.com รวม 35,379 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 3,437,689,020 บาท เฉลี่ย 114,589,643 บาทต่อวัน ผลการอายัดบัญชี จำนวน 10,713 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,404,539,300 บาท ยอดอายัดได้ จำนวน 719,057,785 บาท

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 160,929,368 บาท 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 583,012,851 บาท 3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 145,768,931 บาท 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,427,157,157 บาท 5. หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย  235,952,533  บาท ซึ่งยังมีประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ขอประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ หากถูกหลอก สามารถแจ้งความออนไลน์ที่ https:www.thaipoliceonline.com หรือสอบถามที่เบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000

ขณะที่ นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า ตามที่ประชาชนได้มีการสอบถามมาที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เกี่ยวกับขั้นการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิฯ ที่ถูกต้อง รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้านข้อมูลข่าวสาร สำนักงาน ปปง. ขอชี้แจงดังนี้

กระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

1. กรณีที่สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการเปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิฯ ในรายคดี ที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด

2. สำนักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ratchakitcha.soc.go.th หรือ เว็บไซต์สำนักงาน ปปง. amlo.go.th

3. สำนักงาน ปปง. เปิดรับคำร้องฯ โดยให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ พร้อมหลักฐาน ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีประกาศฯ ตามช่องทางที่สำนักงาน ปปง. กำหนด โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้องฯ ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน โดยพิจารณาข้อมูลของผู้เสียหายเทียบกับข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาต้องตรงกัน ดังนี้

- พฤติการณ์กระทำผิดของคนร้าย

- ช่วงเวลาที่มีการกระทำผิด

- เลขคดีอาญาของพนักงานสอบสวน

- ในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีธนาคารต้องตรงกัน

ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่าเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้

ช่องทางการยื่นคำร้อง มีดังนี้

- ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

- ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าซองมาที่สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

- ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (ดูได้จากประกาศ ราชกิจจานุเบกษา)

หลักฐานประกอบการยื่นคำร้องฯ ประกอบด้วย

5.1 ต้องแนบหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

- สำเนาคำพิพากษาให้มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย

- สำเนาหลักฐานการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา

- สำเนาหลักฐานการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

5.2 หลักฐานอื่นตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดและภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด (ดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา)

สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบคำร้องฯ และจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความเสียหาย เสนอเลขาธิการ ปปง. เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็น  จากนั้น เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

ผู้เสียหายสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินการกับทรัพย์สินได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือโทรสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/n89AbQN2iLw

แท็กที่เกี่ยวข้อง  เหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ ,ปปง.

คุณอาจสนใจ

Related News