ข่าวโซเชียล

อาลัย “หมอมีน” เพิ่งทำงานได้ 23 วัน แพทย์อินเทิร์นปี 1 ประสบอุบัติเหตุหลังออกเวร

โดย taweelap_b

25 มิ.ย. 2566

11.8K views

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ไว้อาลัยผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "อาลัยน้องหมอมีน อินเทิร์น1..23วัน"


ขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวของคุณหมอ ในการจากไปของน้องหมอมีน แพทย์จบใหม่ 2566 เพิ่งเริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่ง แพทย์เพิ่มพูนทักษะ รพ.พหลฯ กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ชน 4 คัน หลังจากลงเวร ขอบคุณทีมพี่ ๆ โรงพยาบาลพหลพลพยุหะเสนา ที่ พยายามช่วยเหลือน้องอย่างสุดความสามารถ หลังได้รับการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล


ทั้งนี้ แพทยสภา จะขอประสานข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานอย่างไรหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางที่อาจช่วยป้องกันได้ในอนาคต แต่เบื้องต้นทราบว่าเกิดเหตุที่แยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ #มอตาเขียว และเกิดในช่วงเย็น อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยสำรวจพื้นที่ถนนและการจราจรด้วยครับ และต้องขอฝากเตือนคุณหมอทุกท่าน หลังลงเวรถ้าง่วงอย่าขับรถเอง ถ้าจำเป็นต้องงีบก่อน ฝืนไปไม่คุ้ม มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย อันตรายจริง ๆ


คุณหมอมีนอยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของจังหวัดราชบุรี กว่าจะเป็นหมอ 1 คน ต้องทุ่มเทเรียน เป็นเวลา 6 ปี นับเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าของประเทศอย่างยิ่ง ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอีกครั้งครับ ขออนุญาตลงกำหนดการ งานศพพระอภิธรรม ดังต่อไปนี้


สำหรับกำหนดการอภิธรรมศพ พญ.ญาณิศา สืบเชียง (หมอมีน) ตั้งสวดอภิธรรมศพ ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้ ศาลา 1) วันที่ 24 มิ.ย. 66 รดน้ำศพ เวลา 16.00 น. วันที่ 24-28 มิ.ย. 66 สวดอภิธรรมศพ เวลา 19.30 น. และจะมีพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 29 มิ.ย. 66 เวลา 16.00 น.


นอกจากนี้ เลขาธิการแพทยสภา ยังโพสต์ข้อความ ระบุว่า การที่อยู่เวรยาวนานของแพทย์จะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายเพราะ Human error แพทยสภาจึงจำกัดเวลาการทำงานนอกเวลาของแพทย์เริ่มที่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ที่อยู่ในการดูแลของแพทยสภา ไม่ให้เกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และเป็นข้อแนะนำสำหรับทุกสังกัดหน่วยงาน ที่ควรจำกัดเช่นกันหากยังเกินอยู่ และควรพัฒนาเป็นกฎหมายในอนาคต ทั้งนี้ สถานพยาบาลนั้น จะต้องรีบบรรจุให้มีแพทย์เพียงพอ ในการสลับเวร เพื่อดูแลประชาชนเสียก่อน


อย่างไรก็ดี ขอขอบคุณทาง สธ. และภาครัฐที่ให้ความสำคัญขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันในการ ผลิต และหาตำแหน่งบรรจุให้กับแพทย์ ในการดูแลผู้ป่วย หวังว่าระบบจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และเข้าสู่มาตรฐาน ที่ควรจะเป็นโดยเร็ว

คุณอาจสนใจ

Related News