สังคม
แม่ค้าผลไม้โอด 'องุ่นไชน์มัสแคท' ขายไม่ออก ลูกค้าหายเกลี้ยง - สภาผู้บริโภคจี้ อย.เร่งจัดการบริษัทนำเข้า
โดย weerawit_c
27 ต.ค. 2567
273 views
จากกรณีที่มีข้อมูลว่าพบสารพิษตกค้างสูงถึง 74% ในองุ่นไชน์มัสแคท ซึ่งจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ผู้บริโภคกังวลต่อความปลอดภัยในการบริโภคผลไม้ชนิดนี้ และหลีกเลี่ยงการซื้อองุ่นไชน์มัสแคททันที
วานนี้ (26 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวเดินทางสำรวจภายในตลาดย่านรังสิตอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พบบางเจ้าวางของน้อยลง ส่งผลให้แม่ค้าขายผลไม้ ขายของไม่ได้
นางสาวสมหมาย มั่งศรี อายุ 63 ปี แม่ค้าขายผลไม้ เปิดเผยว่า หลังจากข่าวสารพิษตกค้างในองุ่นไซมัสแคทออกมา จึงไม่ได้นำของมาลงขายหน้าร้าน เนื่องจากขายไม่ได้ เพราะหลังจากที่คนทราบข่าวไม่กล้าซื้อกิน ของที่เอามาก็เหลือ ขายยากมาก จากที่เคยขายองุ่นจึงกลับมาขายส้มดีกว่า เมื่อก่อนองุ่นไชน์มัสแคท ขายดีมาก โดยราคาลังละ 200 บาท ซึ่งแล้วแต่สภาพ แต่ล่าสุดขายไม่ออก อย่างในตระกร้าที่เห็นมันขายไม่ได้และขายไม่ออก 2-3วันแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คิดว่าจะขายผลไม้ไทยดีกว่า ผลไม้นอกไม่เอามาขายแล้ว
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจแผงขายผลไม้ในตลาดเทิดไท อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าบรรยากาศในโซนจำหน่ายผลไม้นำเข้าที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะแผงจำหน่ายองุ่นไชน์มัสแคทที่ได้รับผลกระทบจากข่าวสารเคมีตกค้างอย่างรุนแรง หลายร้านพยายามดึงดูดลูกค้าด้วยการลดราคากระหน่ำจากราคาปกติถึง 70% โดยจากราคากิโลกรัมละ 250 บาท ลดเหลือเพียง 80 – 100 บาท แต่ผู้บริโภคยังคงไม่กล้าเสี่ยงซื้อ
นางถาวร พรหมมี อายุ 58 ปี แม่ค้าองุ่นไชน์มัสแคทในตลาดเทิดไท เปิดเผยด้วยความกังวลว่า ตั้งแต่ข่าวการตรวจพบสารพิษในองุ่นไชน์มัสแคทแพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ทำให้ร้านของตนได้รับผลกระทบอย่างหนัก สินค้าที่เคยขายได้ดีต้องเหลือค้างสต็อกจนเกิดความเสียหาย องุ่นไชน์มัสแคทที่นำมาขายเน่าเสียไปแล้วกว่าครึ่ง ส่วนที่เหลือก็ต้องเร่งระบายด้วยการลดราคาขายขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ลูกค้าก็ยังคงไม่มั่นใจ กลัวเรื่องความปลอดภัย จนทำให้ยอดขายตกต่ำและขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
นางถาวร กล่าวต่ออีกว่า แม่ค้าผลไม้หลายรายรู้สึกเสียใจและเครียดอย่างมาก เพราะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ค้าในตลาดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลไม้แต่อย่างใด โดยปกติการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทจะผ่านขั้นตอนการนำเข้าตามกฎหมายจากประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่ขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยกลับไม่ชัดเจน โดยไม่มีการตรวจสารตกค้างก่อนเข้ามาจำหน่ายในตลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ด้านสภาผู้บริโภค จี้ อย. ให้ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ที่มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศ คือ คลอไพริฟอส และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์ เพราะถือเป็นผลไม้หรืออาหารที่ผิดมาตรฐาน แนะเลิกให้ข่าว ปลอดภัย-ไม่มีการตกค้างในเนื้อผลไม้ เพราะถือว่ามีความผิดตาม พรบ.อาหารมาตรา 25
นายสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ที่มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศ คือ คลอไพริฟอส และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์ เพราะถือเป็นผลไม้หรืออาหารที่ผิดมาตรฐานตรวจพบสารเคมีที่ห้ามใช้ ไม่ใช่เลขาธิการอย.ออกมายืนยัน ว่า ปลอดภัยและไม่มีการตกค้างในเนื้อผลไม้ เพราะถือว่ามีความผิดตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้าเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้ (3) อาหารผิดมาตรฐาน (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ ดังนี้ ความผิดตามมาตรา 60 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา 61 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(4) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอให้ อย.เร่งต้องตรวจสอบผักและผลไม้ก่อนจำหน่วยให้ผู้บริโภค ว่า มีความปลอดภัย หากพบไม่ปลอดภัยต้องส่งคืนต้นทาง หรือทำลายทันที และกำกับมาตรฐานผักและผลไม้ให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ถือเป็นหน้าที่หลักของ อย. ที่ต้องทำหน้าที่เฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศอย่างละเอียด
ทั้งนี้ คลอร์ไพริฟอส มีผลต่อความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ เด็กมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น ไอคิวต่ำ สมาธิสั้น รวมถึงพัฒนาการด้านจิตใจ และมีผลต่อเนื่องแม้เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม (https://eht.sc.mahidol.ac.th/article/2239) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า สารนี้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ H-29 ผ่านตัวรับ EGFR กระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว ได้แก่คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต และใช้เวลากว่า 3 ปี จนคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้ในที่สุด โดยคลอร์ไพริฟอสถูกประกาศยกเลิกการใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
ส่วนเอ็นดริล อัลดีไฮด์ เป็นสารเคมีอันตรายใช้ในการกำจัดแมลง กระทรวงเกษตรห้ามใช้ไปตั้งแต่ กรกฎาคม 2524 เนื่องจากมีความเป็นพิษสูงมาก
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรืออาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโพสต์ภาพกินองุ่นไชน์มัสแคทโชว์ พร้อมระบุข้อความว่า "พอผมออกมาอธิบายเรื่อง ผลการตรวจสารตกค้างในองุ่น (ซึ่งโดนปั่นกระแสให้น่ากลัวเกินจริง) .. เจอ comment ด่าว่าผม "อวย องุ่น" , "ฟอกขาว องุ่น" , แน่จริงก็ซื้อมากินโชว์สิ ! ได้ครับ จัดไป 1 กล่อง .. ถ้ายังไม่พอใจก็ซื้อส่งมาให้ผมกินได้เรื่อยๆ ครับ ยินดีอย่างยิ่งครับ ป.ล. เป็นองุ่นไชน์มัสแคต ผลิตในจีน ซื้อที่ Tops (หนึ่งในห้างที่โดนสุ่มตรวจ) ครึ่งกิโล 89 บาท หวานกรอบ ไม่มีเมล็ด อร่อยดีครับ"
ทั้งนี้เพจเฟซบุ๊ก 'เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)' โพสต์ข้อความ "สารที่ตกค้างปริมาณน้อยๆ โดยที่ไม่มีการประเมินความปลอดภัย ไม่ควรกินโชว์"
พร้อมคอมเมนต์ใต้โพสต์ ระบุว่า "สารที่ไม่เคยประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดค่า MRL อาจมีความไม่ปลอดภัยหรือความเสี่ยงต่อผู้บริโภค กฎหมายจึงกำหนดค่า default limit ที่ 0.01 มก./กก. หลักการพื้นฐานของหลายประเทศเช่น อียู หรือกฎหมายไทยคือ “หลักการป้องกันไว้ก่อน” (precautionary principle) เพราะการตกค้างเพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายได้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคและยังทำให้เกณฑ์มาตรฐานมีความชัดเจนในการใช้เป็นอาหาร"
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/BOoFT4lubeE
แท็กที่เกี่ยวข้อง องุ่นไชน์มัสแคท ,สภาผู้บริโภค ,เจษฎาเด่นดวงบริพันธ์