สังคม

อย.ย้ำ ‘ยาย้อมผม’ ปลอดภัย ชี้ยังไม่มีวิจัยเป็นอันตรายต่อตับ-ไต แนะผู้บริโภคอ่านฉลากก่อนซื้อใช้

โดย nicharee_m

17 ก.พ. 2567

35 views

อย.ย้ำ ยาย้อมผมปลอดภัย แจงข่าวอันตรายต่อตับหรือไต เป็นรายงานต่างประเทศ แต่การสัมผัสสารเคมีบ่อยหรือนานอาจเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพ ย้ำ! ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย รายละเอียดครบถ้วน

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อออนไลน์ว่าการใช้ยาย้อมผมบ่อยๆ เป็นอันตรายต่อตับหรือไตนั้น เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. ได้ประสานแพทย์ผู้ให้ข่าวแล้ว ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นรายงานในต่างประเทศ พบผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติของตับและไตสัมพันธ์กับการสัมผัสยาย้อมผม แต่จำนวนเคสไม่มาก ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่าสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบในยาย้อมผมเป็นอันตรายต่อตับหรือไต แต่การสัมผัสสารเคมีบ่อยหรือนานเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งการระคายเคืองหนังศีรษะและการแพ้ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบยาย้อมผมอย่างสม่ำเสมอ พบว่ายาย้อมผมที่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ใช้ชนิดและปริมาณของสารเคมีเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยในการใช้ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง แสดงชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือน ที่สำคัญต้องมีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีหลักแหล่งแน่นอนหรือร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะหากใช้แล้วเกิดปัญหาจะได้ติดตามย้อนกลับเพื่อตรวจสอบได้

รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาย้อมผมอาจก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ ผู้บริโภคและช่างทำผมควรใช้อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนอย่างเคร่งครัด และควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง ถึงแม้จะเป็นยี่ห้อหรือสีเดียวกับที่เคยใช้ก็ตาม โดยทาบริเวณท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้น และอย่าย้อมผมบ่อยจนเกินไป ควรทิ้งระยะห่างในการย้อมผม หากสงสัยข้อมูล โทรสายด่วน อย.1556

โดยก่อนหน้านี้ (12 กุมภาพันธ์) มีข่าวจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาเตือนกรณีปิดหงอกทุกเดือน ส่งผลเสียอย่างไร?

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงมากนัก นั่นก็คือยาย้อมผมเคมี หรือ Permanent hair dye

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สีผมธรรมชาติโดยเฉพาะคนไทย และคนเอเชียทั่วไปจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเกือบดำ สีดำในเส้นผมธรรมชาติมาจากเม็ดสีเมลานินที่สร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ในรากผม ซึ่งผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวเนื่องจากการทำงานของเมลาโนไซต์ที่ลดลง และมีจำนวนน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและกรรมพันธุ์ สำหรับผู้ที่ต้องการปิดผมขาวอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งการย้อมสีผมบ่อยๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณศีรษะ และก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยอาการแพ้นั้นอาจเป็นผื่นเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส หรืออาจมีการแพ้ในระดับรุนแรง ผิวหนังมีอาการผื่นบวมคัน มีน้ำเหลืองซึม หน้าบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต โดยอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ในบางราย

แพทย์หญิงนันท์นภัส โปวอนุสรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า Permanent hair dye มีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้ 1.Developer คือสารที่ใช้ล้างสีผมเดิม ส่วนประกอบหลักคือ hydrogen peroxide ทำหน้าที่กัดสีผมเดิมออก เพื่อให้ได้สีผมใหม่ที่มีความสดและสม่ำเสมอ hydrogen peroxide นี้นอกจากทำให้เส้นผมแห้งเสียและยังระคายเคืองหนังศีรษะด้วยความที่เป็นด่างสูง 2.Alkaline agent คือสารที่ทำลายโปรตีนเส้นผม ทำให้เกล็ดผมเปิดออกเพื่อให้สีย้อมเข้าไปถึงแกนของเส้นผมได้ง่าย ส่วนประกอบหลักคือแอมโมเนีย เมื่อเส้นผมต้องสัมผัสกับแอมโมเนียบ่อยๆ จะทำให้ผมขาดร่วงง่าย

3.Color คือสารย้อมหลักๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ PPD (para-phenylenediamine) และ PTDS (para-toluenediamine sulfate) ซึ่งเป็นสารย้อมทางเลือกสำหรับใครที่แพ้ PPD แต่สามารถแพ้ข้ามชนิดกันได้ สีย้อมที่ยิ่งเข้มดำยิ่งมีสารย้อมที่เข้มข้นกว่าสีอ่อน 4.ส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่แบรนด์ต่างๆ จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อจุดประสงค์การขาย เช่น สารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ น้ำหอม และสารกันเสีย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยที่มีการสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อมเช่นกัน ดังนั้นหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสีผม ควรยืดระยะเวลาระหว่างการทำสีแต่ละครั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด


https://youtu.be/774tjKWCXjg

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ยาย้อมผม ,ย้อมสีผม ,อย.

คุณอาจสนใจ

Related News