สังคม

เปิดสาระสำคัญ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง?

โดย panwilai_c

27 มี.ค. 2567

120 views

สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณา หากคลอดออกมา ไทยก็จะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร่างกฎหมายนี้



การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีวาระสำคัญคือ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว



นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวรายงานถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญ ได้ย้ำว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อคนไทยทุกคน โดยกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น LGBT ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการคืนสิทธิ์ให้คนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาไม่เคยได้รับ และ สำหรับชายหญิงทั่วไปเคยได้รับสิทธิอย่างไร ทุกคนจะไม่เสียสิทธิ์แม้แต่น้อย กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม



ทั้งนี้หากร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมา ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายไปทีละมาตรา จนจบทั้งหมด 68 มาตรา ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ชั่วโมงเศษ สุดท้าย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 400 เสียง ต่อ 10 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 3



ซึ่งภายหลังการลงมติเสร็จสิ้น สส.พรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างปรบมือแสดงความยินดี และมีการร่วมกันถ่ายรูปกับธงสีรุ้ง



โดยสาระสำคัญในกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น เป็นการคืนสิทธิให้แก่บุคคล เช่น

-การแก้ไขคำว่า ชาย-หญิง-สามี-ภริยา เป็นคำว่า บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือ คู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตาม



บุคคลสามารถหมั้นและสมรสกันได้ เมื่อทั้งสองฝ่าย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์



เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสภานะ "คู่สมรส" ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่น ๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ "คู่สมรส" เช่น สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย



นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีคู่หมั้น หรือคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง ไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าเพศใด ให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน (จากเดิมฟ้องไม่ได้ เช่น หาก สามีไปมีชายอื่น ฟ้องหย่าไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่ฟ้องหย่าได้)



ภายหลัง ที่ประชุมสภาฯ ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว คุณบรู๊ค ดนุพร ปุณณกันต์ ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย พร้อมด้วย นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย /ครูธัญ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงความสำเร็จของสภาฯ ที่ได้ให้ไว้กับประชาชนในการร่วมกันกับทุกพรรค ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก่อนปิดสมัยประชุม ในเดือนเมษายน



คุณบรู๊ค ดนุพร บอกว่า การผ่านร่างกฎหมายครั้งนี้ แม้จะมี สส.บางท่าน มีข้อจำกัดในด้านศาสนา ไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้ แต่ ถือว่าทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคี ไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ขั้นตอนหลังจากนี้ จะไปสู่ประชุมวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบ ก่อนมีผลบังคับใช้ต่อไป



ส่วน ครูธัญ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ บอกว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม วันนี้ ได้ให้สิทธิ ศักดิ์ศรี สวัสดิการ กับกลุ่มคนทุกเพศ แต่ยังมีสเต็ปที่ต้องก้าวต่อไป (หมายถึงยังมีกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องของคำนำหน้านาม ที่จะตามเข้ามาสู่การพิจาณรา ในสมัยประชุมหน้า ) หลังแถลงเสร็จ ทั้ง 3 ท่าน มีการทำมือเป็นรูปหัวใจด้วย


https://youtu.be/eMKTyZstays

คุณอาจสนใจ

Related News